วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บทบาทของห้องสมุด : การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย (ดร. ปาน กิมปี 8 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กทม)

บทบาทของห้องสมุด : การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย (ดร. ปาน กิมปี 8 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กทม)
1. แนวคิดและปรัชญา
การศึกษานอกระบบ:: เสริม เติมเต็ม ทดแทนการศึกษาในระบบให้กับประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน
การศึกษาตามอัธยาศัย:: ส่งเสริมสนับสนุนให้โอกาสในการเรียนรู้ในวิถีชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย
2. ความมุ่งหมาย
การศึกษานอกระบบ::พัฒนาตนเองเป็นช่วงๆ
การศึกษาตามอัธยาศัย::ส่งเสริมพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
3. หลักสูตร
การศึกษานอกระบบ::มีกรอบหลักสูตรมุ่งสนองต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ
การศึกษาตามอัธยาศัย::ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน
4. ผู้เรียน / ผู้รับบริการ
การศึกษานอกระบบ::ประชาชนทุกวัยระบุตัวคนได้ชัดเจนโดยเน้นบุคคลที่พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ
การศึกษาตามอัธยาศัย::ประชาชนทุกวัย แต่ระบุตัวคนได้ยาก
5. ครู / ผู้สอน
การศึกษานอกระบบ::ได้รับการฝึกอบรมโดยตรง อำนวยความสะดวกในกิจกรรมการเรียนรู้
การศึกษาตามอัธยาศัย::ทุกคนที่มีศักยภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้
6. ความรู้
การศึกษานอกระบบ::ยึดถืองานของผู้เรียนเป็นหลัก และเป็นไปตามกรอบหลักสูตร
การศึกษาตามอัธยาศัย::ตามความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
7. วิธีการเรียนรู้
การศึกษานอกระบบ::มีแบบแผน เน้นให้แสวงหาความรู้ เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ มีการพบกลุ่ม
การศึกษาตามอัธยาศัย::มีวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่มีแบบแผนแน่นอน
8. ระยะเวลา
การศึกษานอกระบบ::เป็นช่วงๆ ตามที่หลักสูตรกำหนด
การศึกษาตามอัธยาศัย::ตลอดเวลา
9. วุฒิการศึกษา
การศึกษานอกระบบ::บางกิจกรรมมีวุฒิการศึกษา บางกิจกรรมมีเกียรติบัตร
การศึกษาตามอัธยาศัย::ไม่มีวุฒิบัตร บางกิจกรรมมีเกียรติบัตร
10. กิจกรรมการเรียนรู้
การศึกษานอกระบบ::กิจกรรมการเรียนรู้เกิดขึ้นตามกรอบหลักสูตร เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี
การศึกษาตามอัธยาศัย::กิจกรรมการเรียนรู้เป็นไปตามวิธีชีวิต
11. สื่อการเรียนรู้
การศึกษานอกระบบ::สื่อการเรียนรู้มีอยู่แล้ว มีสื่อบุคคลที่เน้นประสบการณ์เป็นหลัก
การศึกษาตามอัธยาศัย::การจัดสาระเพื่อการเรียนรู้
12. การประเมินผล
การศึกษานอกระบบ::การประเมินผลที่ชัดเจน มีเกณฑ์การ ผ่าน-ไม่ผ่าน
การศึกษาตามอัธยาศัย::ไม่มีการประเมินผลที่ชัดเจน แต่บางกิจกรรมอาจมีการประเมินผลเพื่อให้ผลย้อนกลับต่อผู้รอการประเมิน











ข้อเสนอการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
::การจัดแผนการเรียนรู้รายบุคคล::
1. สุ่ม / สำรวจความต้องการของสมาชิก
2. การร่วมมืออย่างสมัครใจของสมาชิก
3. การเลือกสรรสื่อเพื่อการเรียนรู้
4. การบันทึกผลการเรียนรู้ : สมุดบันทึกผลการเรียนรู้
5. การส่งเสริมสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
6. การสรุปผลการเรียนรู้ : เกียรติบัตร
7. การจัดทำสัญญาการเรียนรู้เรื่องใหม่

การปรับใช้กับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
::การเรียนเพื่อรู้
::การเทียบระดับการศึกษา
หลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ด้วยข้อคิดภาษิตเพียงบทเดียว “มันคือความจริง”
......ให้ใครจงหมั่นให้ ใครใคร
ให้แล้วอย่าจำใส่ใจ จดไว้
ให้แล้วก็แล้วไป หมดเรื่อง กันนา
แต่รับจงอย่าได้ หมดปลื้มลืมคุณ

วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โอกาสการเร่งรัดปรับการเรียนการสอนการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน

ผลการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. ทั้งปีงบประมาณ 2551 จำนวน 100 สถานศึกษาและผลการประเมินคุณภาพภายนอกปีงบประมาณ 2552 เบื้องต้นในช่วงแรก 204 สถานศึกษานั้น มาตรฐานที่ใช้ประเมินภายนอก มาตรฐานที่ 2 การศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน มีผลการประเมินอยู่ในระดับพอใช้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผลการประเมินที่สะท้อนให้เห็นว่าผลการจัดการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐานยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ผลการประเมินภายนอกนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาและครู กศน. ได้ประสบและเข้าใจมาก่อนหน้านี้แล้ว
นอกจากนี้ผลการสอบภาคเรียนที่ 1/2551 เมื่อใช้ข้อสอบกลางในการประเมินผลปลายภาคเรียน นักศึกษาสอบผ่านจำนวนน้อยโดยเฉพาะหมวดวิชาหลักคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย แต่หมวดวิชาที่เหลือก็มีจำนวนนักศึกษาสอบผ่านน้อยเช่นกัน
สภาพการณ์และผลดังกล่าวเป็นประเด็นที่ผู้บริหารสถานศึกษาและครู กศน. จำเป็นต้องระดมสมองเพื่อเร่งรีบพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และพัฒนาคุณภาพให้มากขึ้น
เป็นที่แน่นอนและเข้าใจกันแล้วว่า กลุ่มนักศึกษามาด้วยกันหลากหลาย ทั้งพื้นฐานความรู้เดิมแต่ก็มีคนเก่งเหมือนกัน พื้นฐานข้อจำกัดทางสังคม ข้อจำกัดเวลาเรียน เป็นต้น แต่ในส่วนของการจัดการศึกษาทั้งสื่อ สถานที่เรียน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เทคนิคการสอนของครู การมอบหมายงาน การตรวจงานของนักศึกษา การกำกับดูแลการพบกลุ่มมีประเด็นที่ต้องรีบพัฒนาเช่นกัน
ทำอย่างไรจะช่วยกันหาแนวทางและลงมือปฎิบัติพัฒนาให้เห็นผลที่ดีขึ้น โอกาสการเร่งรัดปรับการเรียนการสอนการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐานจะให้ดีขึ้นได้อย่างไร
เราคงจะไม่แก้ไขด้วยการขอร้องให้ข้อสอบปลายภาคง่ายขึ้นหน่อย เราคงจะไม่เสียเวลากับการปูพื้นฐานการเรียนของนักศึกษามากไปจนไม่มีเวลาพอที่จะจัดกิจกรรมการเรียนในหัวใจของจุดมุ่งหมายและเนื้อหาหลักของสาระวิชานั้นไป ( เช่นการสอนภาษาอังกฤษ เราจะไม่เสียเวลากับการเรียนศัพท์ และการแปลประโยคมากเกินไป แต่จะต้องเร่งรีบการสอนเนื้อหาหลักตามหลักสูตรให้เร็วและใช้เวลาให้มาก ทำอย่างไรจะให้เนื้อหาหลักที่สอนนั้นมีศัพท์คำใด แล้วมาเรียนรู้ศัพท์คำนั้น ) เรารู้กันอยู่แล้วว่า บางสถานศึกษา ไม่มีครูที่จบวิชาเอกหรือวิชาโททางด้านภาษาอังกฤษ เรารู้อยู่แล้วว่าวิชาหลักต่าง ๆ เป็นวิชาที่ค่อนข้างยาก ( ในสายตาของคนที่มองว่ายาก ) เรารู้อยู่แล้วครูคนเดียวต้องสอนทุกวิชา หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นจริงอีกมาก
แต่วิกกฤตหรือประเด็นเหล่านี้ ทำอย่างไรจะระดมสมองและทำอะไรได้ คิดได้ ตัวอย่างที่เคยเห็น การแสวงหาวิธีในขณะนี้การแลกเปลี่ยนสื่อที่ดีต่อกัน การค้นหาจาก Website ที่ครูเข้าไปศึกษาจริง แล้วเห็นว่าดีจึงแนะนำให้นักศึกษาเข้าไปใช้ (หมายถึงนักศึกษาที่จะเข้าถึง access ) คอมพิวเตอร์ได้แสวงหาความรู้เพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปอีก
การมีโอกาสเยี่ยมเยือนการจัดกิจกรรมพบกลุ่มการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐานของ กศน.อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552 ที่ ผอ.อุไรรัตน์ ชนะบำรุง และอาจารย์วารุณี คงคืน ได้ชวนไปเยี่ยมเยือนและให้คำแนะนำ การพบกลุ่มของกลุ่มพัฒนาเด็กเล็กคลองมะเดื่อ ศรช.คลองมะเดื่อ 1 (1 กลุ่ม) ศรช. วัดดอนไก่ดี (2 กลุ่ม) และโรงเรียนอ้อมน้อยโสภณชนูปถัมภ์ (4 กลุ่ม) มีการพบกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่ในขั้นที่พอใจ มีสื่อเสริมการสอน มีบรรยากาศการเรียนรู้ และสภาพของนักศึกษามีความกระตือรือร้น มาพบกลุ่มจำนวนมากทีเดียว มีความสะอาด แจ่มใส แต่งกายเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ ต้องขอชื่นชมผู้อำนวยการ และครูที่มีการกำกับดูแล และมีการจัดกิจกรรมการสอนได้ในระดับที่พอใจ แต่ทุกๆ อย่างจะมีหนทางที่ทำได้ดีขึ้นอีก (The Better Way)
ในภาพรวมพอมองเห็นได้ว่าขณะนี้ด้วยศักยภาพของครู การสรรหาวิทยากรสอนเสริม การหาเทคนิคการสอน การคิดพัฒนางานที่มอบหมายให้นักศึกษาทำอย่างไรจะให้เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งใช้เวลาที่มาพบกลุ่มกับครูให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จะต้องเตรียมการสอน เตรียมการพบกลุ่มแต่ละครั้งอย่างไรควรจะมีการระดมสมอง คิด ลงมือทำทันที ในปัจจุบัน และมีการพัฒนาในระยะยาวคู่ขนานกันไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรม (อย่างเช่นการสอนเสริมหมวดวิชาภาษาอังกฤษ ประสานงานเชิญวิทยากรสอนเสริมอย่างที่ กศน.กระทุ่มแบน ทำอยู่ การศึกษารายการโทรทัศน์อย่างรายการ English Breakfast ที่ครูก็ดูและแนะนำให้นักศึกษาเรียนรู้การเข้าไปเรียนรู้ ใน Website ของสถาบันการศึกษาทางไกล เป็นต้น
น่าจะมีจุดยืนทันทีว่า เรารู้สภาพของนักศึกษาแล้ว เรารู้สภาพของครูพอสมควร เนื้อหาหลักสูตรก็เป็นแบบนี้ ก็ต้องใช้ข้อสอบกลางต่อไป (ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อสอบของสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนก็ต้องให้มีคุณภาพเช่นกัน) ปัญหาก็รู้กันเกือบทั้งหมดแล้ว ไม่ใช้เวลาในเรื่อง
นี้อีกแล้ว แต่ทำอย่างไร (How?) จะลงมือพัฒนาคุณภาพทันที
ลงมือช่วยครูและครูก็ปรับการเรียนการสอนทันที รวมทั้งมีแผนในระยะยาวด้วย อยากเห็น กศน. มีผลงานและภาพของการพัฒนาการจัดการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม และนักศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างชัดเจน


ปาน กิมปี
12 มกราคม 2552

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

มาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปีงบประมาณ 2552 (ดร.ปาน กิมปี)

มาตรฐานที่ 1 ปรัชญา วิสัยทัศน์ เป้าหมายวัตถุประสงค์ กลยุทธ์และแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ตัวบ่งชี้ 1 ปรัชญา วิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ การดำเนินงานสอดคล้องกัน
ตัวบ่งชี้ 2 แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปีครอบคลุมทุกพันธกิจ
ตัวบ่งชี้ 3 การกำกับติดตามการดำเนินงานเป็นไปตามแผนและนำผลไปใช้ในการพัฒนา
มาตรฐานที่ 2 การจัดการศึกษานอกระบบ
ตัวบ่งชี้ 1 การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
ตัวบ่งชี้ 2 สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน
ตัวบ่งชี้ 3 การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ตัวบ่งชี้ 4 ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ตามหลักการจัดการศึกษานอกระบบ
ตัวบ่งชี้ 5 คุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
ตัวบ่งชี้ 6 ความรู้ ความสามารถของผู้สำเร็จการศึกษานอกระบบ
มาตรฐานที่ 3 การพัฒนาหลักสูตรและโปรแกรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพ ทักษะชีวิต และพัฒนาสังคมและชุมชน
ตัวบ่งชี้ 1 การพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น
ตัวบ่งชี้ 2 สื่อและแหล่งเรียนรู้สอดคล้องกับหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้
ตัวบ่งชี้ 3 ครูและบุคลากรมีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตร
ตัวบ่งชี้ 4 ครูและผู้สอนมีคุณลักษณะที่เหมาะสม
ตัวบ่งชี้ 5 คุณภาพของผู้เรียน/ผู้รับบริการ
มาตรฐานที่ 4 การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
ตัวบ่งชี้ 1 คุณภาพของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
มาตรฐานที่ 5 การบริหารจัดการ
ตัวบ่งชี้ 1 คุณภาพของการพัฒนาบุคลากร
ตัวบ่งชี้ 2 การจัดระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ
ตัวบ่งชี้ 3 ผู้บริหารมีสมรรถนะในการบริหารองค์กร
ตัวบ่งชี้ 4 คุณภาพของการบริหารจัดการ
ตัวบ่งชี้ 5 มีระบบประกันคุณภาพภายใน
มาตรฐานที่ 6 การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย
ตัวบ่งชี้ 1 การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ตัวบ่งชี้2 การสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
********************
ที่มา: ดร.ปาน กิมปี ศึกษานิเทศก์ 9 สำนักงาน กศน.

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การปฏิบัติการสู่คุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ (ดร. ปาน)

การปฏิบัติการสู่คุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ 2551 ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการได้ดำเนินงานเสริมศักยภาพของผู้บริหารสถานศึกษาระดับอำเภอ อาจารย์และครู กศน. ประมาณ 120 คน ในการประชุมปฏิบัติการสร้างเครื่องมือการวัดผลสำหรับ หมวดวิชาที่เปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ของทุกสถานศึกษา ซึ่งมีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งหลักสูตร กศน. ปวช. เฉพาะหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ แต่ละระดับการศึกษามีเนื้อหาสาระ 8 หมวดวิชารวม 24 หมวดวิชาและหลักสูตร กศน. ปวช.ที่มีรายวิชาอีกเป็นจำนวนมาก ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 มีการเปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียน แต่ละสถานศึกษาเกือบทุกหมวดวิชา จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือวัดผลที่หลากหลายเท่ากับหมวดวิชาที่ เปิดสอน
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 วัน คือ ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2550 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา อ.สามพราน จ.นครปฐม ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดได้ประสานให้ผมและอาจารย์อีกหลายท่านเป็นวิทยากรและพี่เลี้ยง คือ อาจารย์จตุพร สุทธิวิวัฒน์ อาจารย์ทองพิน ขันอาสา อาจารย์วรรษวรรณ บันลือฤทธิ์ อาจารย์อรทัย ปานขาว เพื่อเสริมความรู้การพัฒนาเครื่องมือการวัดผลให้กับผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์และครู กศน.ให้สามารถสร้างเครื่องมือการวัดผลที่นำไปใช้งานได้ทันที
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เน้นให้มีการสร้างเครื่องมือวัดผลเพื่อใช้ในดำเนินการวัดผลและประเมินผลการศึกษาระหว่างภาคเรียนและปลายภาคเรียน โดยเน้นการสร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ (Multiple Choice) และการตอบแบบสั้น (Short Answer) ที่เน้นวัดความคิดวิเคราะห์และความสามารถในการเขียนตอบข้อสอบ เครื่องมือการวัดผลเหล่านี้ ครู กศน.จะได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้โดยตรงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 และผู้บริหาร อาจารย์และครู กศน.เกือบทุกคนได้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายและส่วนสำคัญที่สุด คือได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้ง แต่ละคนได้มุ่งมั่นและจริงจังในการเรียนรู้และปฏิบัติงานอย่างมาก มีการทำงานในช่วงกลางคืนทั้ง 2 คืนหลายท่านได้คะแนน A ไปอย่างน่าภูมิใจ
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปีงบประมาณที่แล้ว (ปีงบประมาณ 2550) ที่ได้มีการประชุมปฏิบัติการพัฒนาเครื่องมือวัดผล ระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน 2550 ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ ในจำนวน 14 หมวดวิชาและพัฒนาข้อสอบถึง 23 ฉบับ ที่มีคณะทำงาน เช่น อาจารยเบ็ญจพร ราชวิริยารักษ์ อาจารย์มาลัย ศักดิ์ตระกูลกล้า อาจารย์ยุพา กิตติดุษฎีธรรม และคณะ ปฏิบัติงานกันอย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบทุกฉบับแล้ว
ภาพรวมของการดำเนินงานการพัฒนาการจัดการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการจัดการศึกษานอกโรงเรียนที่ประกอบด้วย

จากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนั้น ภารกิจหลักของงานมีกรอบของงาน ดังนี้
1. การศึกษาหลักสูตรและการจัดทำแผนการสอน
- การศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร
- การกำหนดแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้
- การกำหนดการเรียนรู้ต่อเนื่อง (กรต.)/โครงงาน/ทดสอบย่อย
- การกำหนดและพัฒนาสื่อ
- การจัดทำแผนการสอน
2. การจัดกระบวนการเรียนรู้
- การนำแผนการสอนไปใช้จัดการเรียนการสอน
- การจัดการเรียนการสอน
- การนิเทศและติดตามผล
- การวิจัยในชั้นเรียน
3. การวัดและประเมินผลการศึกษา
- การกำหนดกรอบการวัดผลและประเมินผล
- การพัฒนาเครื่องมือวัดผล
- การประเมินผลระหว่างภาค
- การประเมินผลปลายภาค
- การสรุปผลการจัดการศึกษา
งานในส่วนของการพัฒนาเครื่องมือการวัดผลจะเป็นชิ้นงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในองค์ประกอบของการวัดและประเมินผลการศึกษา
องค์ประกอบหลักของการจัดการศึกษาที่ประกอบด้วยหลักสูตร-การจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการในองค์รวมให้มีการขับเคลื่อนและพัฒนาไปอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง แนวทางการปฏิบัติการสู่คุณภาพของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการและศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ทุกอำเภอ ตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ (Practice) ที่ดำเนินการไว้เป็นรูปธรรมแล้วคือ การพัฒนาของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางเสาธง โดย ผอ.สัมฤทธิ์ ศักดิ์ตระกูลกล้า ที่ได้มีการพัฒนาการจัดการศึกษาหมวดวิชาภาษาอังกฤษไว้แล้วที่เป็นตัวอย่างที่ดี ในภาพรวมของงานระดับจังหวัดมีจำเป็นต้องหาวิธีทำงานที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพพร้อมกับการปฏิบัติการจริง โดย ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล และคณะวิทยากรได้กำหนดให้มีคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาทั้ง 8 หมวดวิชา เข้าใจว่าจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป เพื่อทำหน้าที่พัฒนางานทั้ง 3 องค์ประกอบคือการวิเคราะห์หลักสูตรและการวางแผนการสอน การกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการกำหนดแนวทางการวัดผลและประเมินการศึกษา คณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาทั้ง 8 คณะ ซึ่งจะมีการวิธีการทำงานในลักษณะการวิจัยปฏิบัติการควบคู่ไปกับภารกิจต่าง ๆ ที่จะผสมผสาน การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (Collaboration Action Research) และ การวิจัยปฏิบัติการระดับสถานศึกษา (Schoolwide Action Research) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา
การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (Collaboration Action Research) มีการดำเนินงานโดยผู้บริหารและครูหลายคนร่วมกันทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของแต่ละหมวดวิชาตามองค์ประกอบของการวิเคราะห์หลักสูตรและการวางแผนการสอน การกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้และการกำหนดแนวทางการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวิจัยปฏิบัติการระดับสถานศึกษา (Schoolwide Action Research) มีการดำเนินงานโดยผู้บริหารและครู รวมทั้งองค์กรเครือข่ายร่วมกันทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญทั่วทั้งจังหวัดสมุทรปราการ (รายละเอียดและแนวทางการวิจัยทั้ง 2 รูปแบบนี้จะได้มีการขยายละเอียดในภายหลัง)
แนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษานอกโรงเรียนโดยกำหนดให้มีคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาที่จะเฝ้ามองและดำเนินการพัฒนาให้เข้มแข็งในแต่ละหมวดวิชา โดยใช้วิจัยปฏิบัติการควบคู่ไปด้วยกันแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่าจะเกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน มีความเป็นวิชาชีพและมีพลังในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การเริ่มต้นจากการคิดและกำหนดกรอบการทำงานของคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาและความร่วมมือของผู้บริหาร อาจารย์และครู กศน.ทุกคน ที่จะมีส่วนมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพงานการศึกษานอกโรงเรียนของจังหวัดให้ยั่งยืนและต่อเนื่องต่อไป
ดร. ปาน กิมปี 1 พฤศจิกายน 2550

บทบาทของ ศนจ.ในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.

บทบาทของ ศนจ.ในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.

*****************

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ซึ่งสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน หรือที่เรียกกันว่า สถานศึกษา กศน.ก็มีความตื่นตัวในการดำเนินการประกันคุณภาพภายใน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547
การดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน. เริ่มมีความชัดเจน มาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ตกลงกันแล้วว่า สถานศึกษา กศน.ที่จะต้องดำเนินการประกันคุณภาพ คือ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ หรือ ศบอ. ในขณะที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด หรือ ศนจ.จะเป็นหน่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ ศบอ.สามารถดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับสถานภาพใหม่ของ ศนจ. ที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ศนจ.หลายแห่งมีบทบาทที่สำคัญในการกระตุ้น จัดเวที และสร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ ศบอ.สามารถดำเนินการประกันคุณภาพภายใน ดังจะเห็นได้จาก ศนจ. สมุทรปราการ ศนจ.ฉะเชิงเทรา ศนจ.จันทบุรี ศนจ.ชลบุรี ศนจ.ตราด และ ศนจ.ระยอง
แม้ว่า ศบอ.บางแห่งของจังหวัดระยองยังมิได้ดำเนินการตามกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้ครบวงจร แต่ในปี 2550 จังหวัดระยองก็มี ศบอ. 2 แห่ง คือ ศบอ.แกลง และ ศบอ.บ้านค่าย ที่ได้ดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างที่ท่านผู้อำนวยการศิลป์ชัย ศรีธัญญา ได้เริ่มต้นไว้ และสามารถต่อยอดการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี
สำหรับปีงบประมาณ 2551 ท่านผู้อำนวยการชำนาญ แจ่มจำรัส ผอ.ศนจ.ระยอง มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ ศบอ.ทุกแห่งเกิดความตื่นตัว และเร่งดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ด้วยการจัดเวทีให้ ศบอ.ทุกแห่งมีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจในกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยเชิญคณะศึกษานิเทศก์ มาเป็นวิทยากร (ประกอบด้วย ดร.ปาน กิมปี, อ.ชาญ นพรัตน์, อ.อัชราภรณ์ โคว้คชาภรณ์ และอ.จตุพร สุทธิวิวัฒน์) ในโครงการอบรมบุคลากรเพื่อพัฒนามาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2550 ณ ศนจ.ระยอง
จุดเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้มาจากความมีวิสัยทัศน์ของท่านผู้อำนวยการและความตระหนักในบทบาทของ ศนจ.ที่จะต้องดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุน ศบอ.ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในการประชุมมีความเป็นกัลยาณมิตร พร้อมที่จะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผอ.ศบอ.และเจ้าหน้าที่จากทุก ศบอ.ในจังหวัดระยอง สำหรับ ศบอ.ที่ท่านผู้อำนวยการติดราชการอื่น ก็ได้มอบให้เจ้าหน้าที่มาแทน นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมจากจังหวัดอื่นในภาคตะวันออก ได้แก่ ศบอ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา, ศบอ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว, ศบอ.บ้านนา จ.นครนายก, ศบอ.เมือง จ.ตราด, ศบอ.ขลุง และ ศนจ.จันทบุรี ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการสร้างเครือข่ายของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน. การประชุมดังกล่าว นอกจากการทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ การประกันคุณภาพ กระบวนการประกันคุณภาพ ทั้งการควบคุมคุณภาพ-Quality Control, การตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพ- Quality Audit, และการประเมินคุณภาพ – Quality Assessment ซึ่งมีทั้งการบรรยายให้ความรู้ การซักถาม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการทดสอบเล็ก ๆ!! ในขณะที่ ศนจ.ระยอง ทำหน้าที่เป็นหน่วยกระตุ้น สร้างกำลังใจให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน โดยเฉพาะคำสัญญาที่จะพาไปศึกษาดูงานต่างประเทศ (ใกล้ ๆ) หากกระบวนการพัฒนาคุณภาพประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใน 2 วัน ได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และด้วยความกระตือรือร้นของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนและความเอาใจใส่ของท่านผู้อำนวยการ ตลอดจนการประสานงานเป็นอย่างดีของ อ.วารีทิพย์ อินบัว และ อ.เนาวรัตน์ บัวเผื่อน แห่ง ศนจ.ระยอง ทำให้คณะวิทยากรรู้สึกชื่นใจและมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า การประกันคุณภาพภายในของ ศบอ.ทุกแห่งในภาคตะวันออกจะมีความเข้มแข็งและมีความก้าวหน้าอย่างแน่นอน
การประชุมครั้งนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการประกันคุณภาพของ ศนจ.ระยอง ในปี 2551 ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยบุคลากรทุกคนของแต่ละ ศบอ.จะต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อให้งานการศึกษานอกโรงเรียนทุกกิจกรรมและโครงการดำเนินการอย่างมีคุณภาพ อันจะเป็นหลักประกันได้ว่า ผู้รับบริการจะมีคุณภาพตามที่กำหนดอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ศนจ.ระยอง ได้กำหนดให้มีการทำงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งนัดหมายแรกกำหนดในวันที่ 16ธันวาคมนี้ โดย ศบอ.แต่ละแห่งจะนำเสนอแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามกรอบที่คณะวิทยากรและที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่เสนอไว้ หากมีความก้าวหน้าประการใดจะได้นำมาบอกเล่าในโอกาสต่อไป
การที่ ศนจ.ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน โดยทำหน้าที่เป็นแกนหลักทางด้านวิชาการให้แก่ ศบอ.ย่อมแสดงถึงความเข้มแข็งของงานการศึกษานอกโรงเรียนในจังหวัดนั้น ๆ ในขณะเดียวกัน การขยายความร่วมมือทางด้านวิชาการไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเครือข่ายการประกันคุณภาพ ซึ่งจะได้ถักทอให้เชื่อมโยงไปยังจังหวัดในภาคอื่น อันจะก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพของงานการศึกษานอกโรงเรียนจนเป็น “วัฒนธรรมคุณภาพ”อย่างแท้จริง

*************

จตุพร สุทธิวิวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ กศน.
29 พฤศจิกายน 2550