วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การปฏิบัติการสู่คุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ (ดร. ปาน)

การปฏิบัติการสู่คุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ 2551 ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการได้ดำเนินงานเสริมศักยภาพของผู้บริหารสถานศึกษาระดับอำเภอ อาจารย์และครู กศน. ประมาณ 120 คน ในการประชุมปฏิบัติการสร้างเครื่องมือการวัดผลสำหรับ หมวดวิชาที่เปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ของทุกสถานศึกษา ซึ่งมีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งหลักสูตร กศน. ปวช. เฉพาะหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ แต่ละระดับการศึกษามีเนื้อหาสาระ 8 หมวดวิชารวม 24 หมวดวิชาและหลักสูตร กศน. ปวช.ที่มีรายวิชาอีกเป็นจำนวนมาก ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 มีการเปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียน แต่ละสถานศึกษาเกือบทุกหมวดวิชา จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือวัดผลที่หลากหลายเท่ากับหมวดวิชาที่ เปิดสอน
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 วัน คือ ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2550 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา อ.สามพราน จ.นครปฐม ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดได้ประสานให้ผมและอาจารย์อีกหลายท่านเป็นวิทยากรและพี่เลี้ยง คือ อาจารย์จตุพร สุทธิวิวัฒน์ อาจารย์ทองพิน ขันอาสา อาจารย์วรรษวรรณ บันลือฤทธิ์ อาจารย์อรทัย ปานขาว เพื่อเสริมความรู้การพัฒนาเครื่องมือการวัดผลให้กับผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์และครู กศน.ให้สามารถสร้างเครื่องมือการวัดผลที่นำไปใช้งานได้ทันที
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เน้นให้มีการสร้างเครื่องมือวัดผลเพื่อใช้ในดำเนินการวัดผลและประเมินผลการศึกษาระหว่างภาคเรียนและปลายภาคเรียน โดยเน้นการสร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ (Multiple Choice) และการตอบแบบสั้น (Short Answer) ที่เน้นวัดความคิดวิเคราะห์และความสามารถในการเขียนตอบข้อสอบ เครื่องมือการวัดผลเหล่านี้ ครู กศน.จะได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้โดยตรงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 และผู้บริหาร อาจารย์และครู กศน.เกือบทุกคนได้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายและส่วนสำคัญที่สุด คือได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้ง แต่ละคนได้มุ่งมั่นและจริงจังในการเรียนรู้และปฏิบัติงานอย่างมาก มีการทำงานในช่วงกลางคืนทั้ง 2 คืนหลายท่านได้คะแนน A ไปอย่างน่าภูมิใจ
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปีงบประมาณที่แล้ว (ปีงบประมาณ 2550) ที่ได้มีการประชุมปฏิบัติการพัฒนาเครื่องมือวัดผล ระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน 2550 ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ ในจำนวน 14 หมวดวิชาและพัฒนาข้อสอบถึง 23 ฉบับ ที่มีคณะทำงาน เช่น อาจารยเบ็ญจพร ราชวิริยารักษ์ อาจารย์มาลัย ศักดิ์ตระกูลกล้า อาจารย์ยุพา กิตติดุษฎีธรรม และคณะ ปฏิบัติงานกันอย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบทุกฉบับแล้ว
ภาพรวมของการดำเนินงานการพัฒนาการจัดการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการจัดการศึกษานอกโรงเรียนที่ประกอบด้วย

จากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนั้น ภารกิจหลักของงานมีกรอบของงาน ดังนี้
1. การศึกษาหลักสูตรและการจัดทำแผนการสอน
- การศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร
- การกำหนดแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้
- การกำหนดการเรียนรู้ต่อเนื่อง (กรต.)/โครงงาน/ทดสอบย่อย
- การกำหนดและพัฒนาสื่อ
- การจัดทำแผนการสอน
2. การจัดกระบวนการเรียนรู้
- การนำแผนการสอนไปใช้จัดการเรียนการสอน
- การจัดการเรียนการสอน
- การนิเทศและติดตามผล
- การวิจัยในชั้นเรียน
3. การวัดและประเมินผลการศึกษา
- การกำหนดกรอบการวัดผลและประเมินผล
- การพัฒนาเครื่องมือวัดผล
- การประเมินผลระหว่างภาค
- การประเมินผลปลายภาค
- การสรุปผลการจัดการศึกษา
งานในส่วนของการพัฒนาเครื่องมือการวัดผลจะเป็นชิ้นงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในองค์ประกอบของการวัดและประเมินผลการศึกษา
องค์ประกอบหลักของการจัดการศึกษาที่ประกอบด้วยหลักสูตร-การจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการในองค์รวมให้มีการขับเคลื่อนและพัฒนาไปอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง แนวทางการปฏิบัติการสู่คุณภาพของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการและศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ทุกอำเภอ ตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ (Practice) ที่ดำเนินการไว้เป็นรูปธรรมแล้วคือ การพัฒนาของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางเสาธง โดย ผอ.สัมฤทธิ์ ศักดิ์ตระกูลกล้า ที่ได้มีการพัฒนาการจัดการศึกษาหมวดวิชาภาษาอังกฤษไว้แล้วที่เป็นตัวอย่างที่ดี ในภาพรวมของงานระดับจังหวัดมีจำเป็นต้องหาวิธีทำงานที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพพร้อมกับการปฏิบัติการจริง โดย ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล และคณะวิทยากรได้กำหนดให้มีคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาทั้ง 8 หมวดวิชา เข้าใจว่าจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป เพื่อทำหน้าที่พัฒนางานทั้ง 3 องค์ประกอบคือการวิเคราะห์หลักสูตรและการวางแผนการสอน การกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการกำหนดแนวทางการวัดผลและประเมินการศึกษา คณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาทั้ง 8 คณะ ซึ่งจะมีการวิธีการทำงานในลักษณะการวิจัยปฏิบัติการควบคู่ไปกับภารกิจต่าง ๆ ที่จะผสมผสาน การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (Collaboration Action Research) และ การวิจัยปฏิบัติการระดับสถานศึกษา (Schoolwide Action Research) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา
การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (Collaboration Action Research) มีการดำเนินงานโดยผู้บริหารและครูหลายคนร่วมกันทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของแต่ละหมวดวิชาตามองค์ประกอบของการวิเคราะห์หลักสูตรและการวางแผนการสอน การกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้และการกำหนดแนวทางการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวิจัยปฏิบัติการระดับสถานศึกษา (Schoolwide Action Research) มีการดำเนินงานโดยผู้บริหารและครู รวมทั้งองค์กรเครือข่ายร่วมกันทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญทั่วทั้งจังหวัดสมุทรปราการ (รายละเอียดและแนวทางการวิจัยทั้ง 2 รูปแบบนี้จะได้มีการขยายละเอียดในภายหลัง)
แนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษานอกโรงเรียนโดยกำหนดให้มีคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาที่จะเฝ้ามองและดำเนินการพัฒนาให้เข้มแข็งในแต่ละหมวดวิชา โดยใช้วิจัยปฏิบัติการควบคู่ไปด้วยกันแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่าจะเกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน มีความเป็นวิชาชีพและมีพลังในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การเริ่มต้นจากการคิดและกำหนดกรอบการทำงานของคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาและความร่วมมือของผู้บริหาร อาจารย์และครู กศน.ทุกคน ที่จะมีส่วนมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพงานการศึกษานอกโรงเรียนของจังหวัดให้ยั่งยืนและต่อเนื่องต่อไป
ดร. ปาน กิมปี 1 พฤศจิกายน 2550

บทบาทของ ศนจ.ในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.

บทบาทของ ศนจ.ในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.

*****************

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ซึ่งสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน หรือที่เรียกกันว่า สถานศึกษา กศน.ก็มีความตื่นตัวในการดำเนินการประกันคุณภาพภายใน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547
การดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน. เริ่มมีความชัดเจน มาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ตกลงกันแล้วว่า สถานศึกษา กศน.ที่จะต้องดำเนินการประกันคุณภาพ คือ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ หรือ ศบอ. ในขณะที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด หรือ ศนจ.จะเป็นหน่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ ศบอ.สามารถดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับสถานภาพใหม่ของ ศนจ. ที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ศนจ.หลายแห่งมีบทบาทที่สำคัญในการกระตุ้น จัดเวที และสร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ ศบอ.สามารถดำเนินการประกันคุณภาพภายใน ดังจะเห็นได้จาก ศนจ. สมุทรปราการ ศนจ.ฉะเชิงเทรา ศนจ.จันทบุรี ศนจ.ชลบุรี ศนจ.ตราด และ ศนจ.ระยอง
แม้ว่า ศบอ.บางแห่งของจังหวัดระยองยังมิได้ดำเนินการตามกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้ครบวงจร แต่ในปี 2550 จังหวัดระยองก็มี ศบอ. 2 แห่ง คือ ศบอ.แกลง และ ศบอ.บ้านค่าย ที่ได้ดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างที่ท่านผู้อำนวยการศิลป์ชัย ศรีธัญญา ได้เริ่มต้นไว้ และสามารถต่อยอดการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี
สำหรับปีงบประมาณ 2551 ท่านผู้อำนวยการชำนาญ แจ่มจำรัส ผอ.ศนจ.ระยอง มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ ศบอ.ทุกแห่งเกิดความตื่นตัว และเร่งดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ด้วยการจัดเวทีให้ ศบอ.ทุกแห่งมีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจในกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยเชิญคณะศึกษานิเทศก์ มาเป็นวิทยากร (ประกอบด้วย ดร.ปาน กิมปี, อ.ชาญ นพรัตน์, อ.อัชราภรณ์ โคว้คชาภรณ์ และอ.จตุพร สุทธิวิวัฒน์) ในโครงการอบรมบุคลากรเพื่อพัฒนามาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2550 ณ ศนจ.ระยอง
จุดเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้มาจากความมีวิสัยทัศน์ของท่านผู้อำนวยการและความตระหนักในบทบาทของ ศนจ.ที่จะต้องดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุน ศบอ.ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในการประชุมมีความเป็นกัลยาณมิตร พร้อมที่จะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผอ.ศบอ.และเจ้าหน้าที่จากทุก ศบอ.ในจังหวัดระยอง สำหรับ ศบอ.ที่ท่านผู้อำนวยการติดราชการอื่น ก็ได้มอบให้เจ้าหน้าที่มาแทน นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมจากจังหวัดอื่นในภาคตะวันออก ได้แก่ ศบอ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา, ศบอ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว, ศบอ.บ้านนา จ.นครนายก, ศบอ.เมือง จ.ตราด, ศบอ.ขลุง และ ศนจ.จันทบุรี ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการสร้างเครือข่ายของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน. การประชุมดังกล่าว นอกจากการทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ การประกันคุณภาพ กระบวนการประกันคุณภาพ ทั้งการควบคุมคุณภาพ-Quality Control, การตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพ- Quality Audit, และการประเมินคุณภาพ – Quality Assessment ซึ่งมีทั้งการบรรยายให้ความรู้ การซักถาม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการทดสอบเล็ก ๆ!! ในขณะที่ ศนจ.ระยอง ทำหน้าที่เป็นหน่วยกระตุ้น สร้างกำลังใจให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน โดยเฉพาะคำสัญญาที่จะพาไปศึกษาดูงานต่างประเทศ (ใกล้ ๆ) หากกระบวนการพัฒนาคุณภาพประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใน 2 วัน ได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และด้วยความกระตือรือร้นของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนและความเอาใจใส่ของท่านผู้อำนวยการ ตลอดจนการประสานงานเป็นอย่างดีของ อ.วารีทิพย์ อินบัว และ อ.เนาวรัตน์ บัวเผื่อน แห่ง ศนจ.ระยอง ทำให้คณะวิทยากรรู้สึกชื่นใจและมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า การประกันคุณภาพภายในของ ศบอ.ทุกแห่งในภาคตะวันออกจะมีความเข้มแข็งและมีความก้าวหน้าอย่างแน่นอน
การประชุมครั้งนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการประกันคุณภาพของ ศนจ.ระยอง ในปี 2551 ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยบุคลากรทุกคนของแต่ละ ศบอ.จะต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อให้งานการศึกษานอกโรงเรียนทุกกิจกรรมและโครงการดำเนินการอย่างมีคุณภาพ อันจะเป็นหลักประกันได้ว่า ผู้รับบริการจะมีคุณภาพตามที่กำหนดอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ศนจ.ระยอง ได้กำหนดให้มีการทำงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งนัดหมายแรกกำหนดในวันที่ 16ธันวาคมนี้ โดย ศบอ.แต่ละแห่งจะนำเสนอแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามกรอบที่คณะวิทยากรและที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่เสนอไว้ หากมีความก้าวหน้าประการใดจะได้นำมาบอกเล่าในโอกาสต่อไป
การที่ ศนจ.ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน โดยทำหน้าที่เป็นแกนหลักทางด้านวิชาการให้แก่ ศบอ.ย่อมแสดงถึงความเข้มแข็งของงานการศึกษานอกโรงเรียนในจังหวัดนั้น ๆ ในขณะเดียวกัน การขยายความร่วมมือทางด้านวิชาการไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเครือข่ายการประกันคุณภาพ ซึ่งจะได้ถักทอให้เชื่อมโยงไปยังจังหวัดในภาคอื่น อันจะก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพของงานการศึกษานอกโรงเรียนจนเป็น “วัฒนธรรมคุณภาพ”อย่างแท้จริง

*************

จตุพร สุทธิวิวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ กศน.
29 พฤศจิกายน 2550

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ประสบการณ์การขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน. (จตุพร สุทธิวิวัฒน์)

ประสบการณ์การขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.
โดย จตุพร สุทธิวิวัฒน์
ในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงในทุกวงการ “คุณภาพ”จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ที่จะกำหนดมูลค่าของแต่ละสิ่ง ในวงการศึกษาก็เช่นกัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จึงได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระบบของการประกันคุณภาพภายใน และจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอก โดยหน่วยงานภายนอก (สมศ.)
สำหรับการศึกษานอกโรงเรียนก็เช่นกัน สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนได้พัฒนาและส่งเสริมให้มีกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัด กศน. อย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่สถานศึกษาทุกแห่งมีความตระหนัก กระตือรือร้นและ พยายามดำเนินการประกันคุณภาพภายในตามแนวทางและคู่มือต่าง ๆ ที่สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนจัดทำขึ้น ในขณะที่บางแห่งได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก ไปให้ความรู้ ให้คำแนะนำ
หากแต่ต้องยอมรับว่า สถานศึกษาอีกจำนวนหนึ่งจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้ชัดเจน บางแห่งเน้นในงานเฉพาะ การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง หรือ SAR (Self Assessment Report) ให้แล้วเสร็จ ซึ่งแม้จะเป็นงานที่สำคัญ แต่จะต้องพิจารณาถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย เพราะโดยแท้จริงแล้ว การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นการรับประกันว่า ผลผลิตหรือสินค้าที่สถานศึกษาให้บริการแก่ลูกค้า (กลุ่มเป้าหมายที่รับบริการ) นั้น มี “คุณภาพ” ตาม “มาตรฐาน” เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ถือว่าเป็นกระบวนการทำงานปกติของสถานศึกษาที่บุคลากรทุกคนในสถานศึกษาจะต้องตระหนักและยึดถือในการจัดกิจกรรมและให้บริการตลอดเวลา
สถานศึกษาแต่ละแห่งต่างมีการดำเนินการประกันคุณภาพภายในที่แตกต่างกัน จึงขอแบ่งปันประสบการณ์ของการดำเนินการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาบางแห่งมาแลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดเวทีแห่งการเรียนรู้ที่งดงามร่วมกัน
ตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่เกิดขึ้นอย่างมีพลัง คือ กระบวนการส่งเสริมสนับสนุนของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการร่วมกับหน่วยศึกษานิเทศก์ กศน.ที่ได้ปฏิบัติงานนิเทศและใช้ “โอกาสแห่งการสร้างสรรค์” ด้วยการผลักดันและให้กำลังใจศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกแห่งดำเนินการประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีท่าน ผอ.กุลธร เลิศสุริยกุล ผอ.ศนจ.สมุทรปราการ เป็นผู้นำในการพัฒนาจนสามารถจัดทำ SAR ของปีงบประมาณ 2549 แล้วเสร็จ จากนั้น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการยังจัดการประชุมปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2550 เพื่อเป็นเวที “คุณภาพ” ที่เปิดโอกาสให้ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกแห่งนำเสนอกระบวนการและผลการดำเนินการประกันคุณภาพภายใน โดยมีผู้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ทั้งจากกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน (ดร.วิศนี ศิลตระกูล) หน่วยศึกษานิเทศก์ (ดร.ปาน กิมปี และอาจารย์จตุพร สุทธิวิวัฒน์) อดีตผู้บริหาร กศน.และปัจจุบันเป็นผู้ประเมินภายนอกของ สมศ.(อาจารย์บุญสม นาวานุเคราะห์) และความอนุเคราะห์จาก สมศ.ที่กรุณาอนุญาตให้คุณวีรนุช ทองแดง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเข้าร่วมประชุมด้วย นอกจากนี้ เวทีดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมการศึกษากลุ่มเป้าหมายพิเศษและสถานศึกษาต่าง ๆ ในภาคตะวันออก มาร่วมเรียนรู้ด้วย
บรรยากาศของการประชุมปฏิบัติการดังกล่าวเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นกัลยาณมิตร บริเวณรอบห้องประชุมมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับกระบวนการประกันคุณภาพภายในของแต่ละสถานศึกษาที่ผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการสามารถศึกษา ซักถาม และเรียนรู้ได้ ในขณะที่ภายในห้องประชุมมีบรรยากาศเปิดพร้อมที่จะรับฟังข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ได้มีการนำเสนอประสบการณ์ และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อการพัฒนาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการประกันคุณภาพภายในของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกแห่งของจังหวัดสมุทรปราการ ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและเป็นพื้นฐานของการดำเนินการประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่องแล้วยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในสถานศึกษาอื่นที่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยสถานศึกษาหลายแห่งได้ถอดแบบกระบวนการดำเนินการดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมให้ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสามารถดำเนินการประกันคุณภาพภายในได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตราดก็เป็นสถานศึกษาแห่งหนึ่งที่ถอดประสบการณ์ดังกล่าวไปปรับใช้จากฐานการวางระบบที่พัฒนาไว้โดยศึกษานิเทศก์ (อาจารย์สุชาติ ศรีนวลนัด) ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกแห่งดำเนินการตามแนวทางและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทั้งสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนกำหนดและสถานศึกษาพัฒนาขึ้น พร้อมทั้งจัดให้มีการประชุมปฏิบัติการเมื่อวันที่ 15 – 20 กรกฎาคม 2550 เพื่อทบทวน ทำความเข้าใจ และจัดทำ SAR จากข้อมูลที่ได้รวบรวมมาแล้ว ซึ่งหน่วยศึกษานิเทศก์ ได้มีส่วนร่วมในเวทีการประชุม โดยศึกษานิเทศก์ (ดร.ปาน กิมปี,อาจารย์ชาญ นพรัตน์ และอาจารย์จตุพร สุทธิวิวัฒน์) ได้ร่วมเป็นวิทยากรและให้ข้อเสนอแนะ
เป็นที่น่าชื่นใจอย่างยิ่งสำหรับผู้มีส่วนร่วมในการประชุมปฏิบัติการดังกล่าว เพราะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และครู กศน.ทุกคนมีความกระตือรือร้น ใส่ใจ ทุ่มเท จนอาจจะกล่าวได้ว่า ทุกคนร่วมกันทำงาน “แบบหามรุ่งหามค่ำ” และ “อย่างมิรู้เหน็ดรู้เหนื่อย” ในช่วงเวลาเพียง 3-4 วัน ทุกคนได้รวมพลังสร้างสรรค์งาน และสามารถจัดทำ SAR ของปีงบประมาณ 2550 โดยมีข้อมูลที่ได้จัดเก็บรวบรวมจากเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละตัวบ่งชี้ จนแล้วเสร็จ ซึ่งสามารถนำไปเป็นพื้นฐานของการพัฒนางานในปีงบประมาณ 2551 ต่อไปได้เป็นอย่างดี
นอกจากการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.ของจังหวัดสมุทรปราการ และตราด ดังกล่าวแล้ว ก็ยังพบว่า จังหวัดอื่นก็มีกระบวนการส่งเสริมสนับสนุน การดำเนินการประกันคุณภาพภายในของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา (ซึ่งได้มีการนำเสนอประสบการณ์ไว้ในโอกาสอื่นแล้ว) รวมทั้งจังหวัดจันทบุรี และชลบุรี
จากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมในเวทีการประกันคุณภาพภายในของ สถานศึกษาต่าง ๆ ดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินการนั้นประกอบด้วย
ความเข้าใจที่ถูกต้องในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของ ทั้งผู้บริหาร และบุคลากรทุกคนของสถานศึกษา
ความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของผู้บริหารและบุคลากรทุกคนที่จะดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จ โดยกำหนดระยะเวลาความสำเร็จอย่างชัดเจนและจริงจัง
การส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังของผู้บริหาร ทั้งด้านทรัพยากรที่จำเป็น ขวัญกำลังใจ และกระบวนการทำงาน ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน
การผลักดันจากหน่วยศึกษานิเทศก์ และการเสริมแรงด้านวิชาการ ในบรรยากาศการทำงานที่เป็นกัลยาณมิตร
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประสบการณ์การขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่ได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้สถานศึกษาทุกแห่งเร่งดำเนินการประกันคุณภาพภายในอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมคุณภาพภายในสถานศึกษาอย่างแท้จริง
สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนเพื่อนชาว กศน.ทุกท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เพื่อการสร้างสรรค์และเป็นพลังแห่งกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนบนเวทีแห่งนี้ด้วยกัน
............................

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2550

ประเด็นการอภิปรายในการประชุมสัมมนาภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย โดย ดร.ปาน กิมปี

ประเด็นการอภิปรายในการประชุมสัมมนาภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย

จัดโดยภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่ คณะศึกษาศาสตร์ มศว.ประสานมิตร
วันที่ 21 กันยายน 2550 เวลา 13.00-16.30 น.
ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพมหานคร



หัวข้อการอภิปราย : นานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ
>ผู้ทรงคุณวุฒิอภิปราย
1. ผศ.ดร.ชิดชงค์ ส.นันทนาเนตร หัวหน้าภาควิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. ดร.ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2542
3. คุณประเทือง แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
ผู้ดำเนินการอภิปราย
ดร.ปาน กิมปี สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน

ช่วงระยะการอภิปรายเป็นช่วงเวลาบ่ายที่ต่อเนื่องมากจากการบรรยายพิเศษของท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.จรวยพร ธรณินทร์) ในหัวข้อ “ภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย” และการบรรยายของ อดีตรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ดร.กล้า สมตระกูล) ในหัวข้อ “พ.ร.บ.การศึกษากับแนวโน้มการศึกษานอกระบบในสังคมไทย”
ฉะนั้น ในช่วงการอภิรายรอบบ่าย ในหัวข้อ “นานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ” จึงได้ร่างกรอบการอภิปรายไว้เพื่อผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายจะได้อาศัยเป็นกรอบอภิปรายเพื่อเสนอองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นต่อผู้รับฟัง คือ
จากสภาพการดำเนินงาน การจัดการศึกษานอกโรงเรียนของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักบริหารงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) กรมการศาสนา (เช่น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พิพิธภัณฑ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ห้องสมุด ศูนย์การเรียน รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรชุมชน และอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ควรมีบทบาทและแนวทางในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนในอนาคตช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเป็นโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่าน อาจจะให้ข้อคิดเห็นในมิติต่าง ๆ ดังนี้
1. การเข้าถึงหรือการให้โอกาสที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษานอกโรงเรียนที่ตอบสนองความต้องการได้ และไม่มองว่าการศึกษานอกโรงเรียนเป็นทางเลือกสุดท้าย
2. การสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย เข้ามาร่วมจัดการศึกษานอกโรงเรียน และสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จะมีบทบาทเป็นแกนกลางที่จะประสานหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน ประชาชน ได้อย่างไร
3. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นวาระแห่งชาติควรจะเป็นอย่างไร

ประเด็นเหล่านี้เพื่อเป็นกรอบในการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อนานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ


ดร. ปาน กิมปี
18 กันยายน 2550

การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ ศบอ. โดย ปัญญา วารปรีดี

การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน เป็นการศึกษาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยการศึกษาข้อมูล เชิงคุณลักษณะเฉพาะกรณีของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคลากร รวมจำนวน 134 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน ด้วยวิธีการสังเกต และการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลจากการวิจัย พบว่า ระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษามีองค์ประกอบและคุณลักษณะสำคัญคล้ายคลึงกัน คือ การพัฒนาภาวะผู้นำ พัฒนาความคิดเชิงระบบ และการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมในลักษณะที่เป็นพลวัตจากการปฏิบัติงานจริง โดยใช้วิธีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ ใช้หลักธรรมกัลยาณมิตรในการขจัดปัญหาอุปสรรค ส่วนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงาน การศึกษานอกโรงเรียน มีลักษณะเป็นองค์รวม โดยเริ่มจากภาวะผู้นำของผู้บริหารและของทีม การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กระบวนการ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมจากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ ทุกขั้นตอนการพัฒนาจะมีผลย้อนกลับสู่กระบวนการและปัจจัยนำเข้าเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ผลการประชุมเพื่อนำเสนอการรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR) ของสถานศึกษาในกลุ่มภาคตะวันออก by Dr.pan@com

ผลการประชุมเพื่อนำเสนอการรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR)
ของสถานศึกษาในกลุ่มภาคตะวันออก
ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก จ.ระยอง

***************************
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก ได้เชิญ ศนจ. ทุกแห่งและ ศบอ. ที่เป็นตัวแทนของ ศบอ. ในจังหวัด เข้าประชุม ณ ศนภอ. เพื่อปรึกษาหารือกันและระดมพลังในการประกันคุณภาพการศึกษา และเสนอ SAR ของแต่ละ ศบอ. ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเร่งรัด การปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ 2550 ด้วย
การประชุมครั้งนี้ แต่ละสถานศึกษาได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มี ผอ.ศนจ. หลายแห่งที่ไม่ติดราชการอื่น เข้าประชุมด้วยตนเอง เช่น ผอ.ฉันทะ พ่วงชิงงาม ผอ.สุรพงษ์ จำจด ผอ.ศิลป์ชัย ศรีธัญญา ผอ.ทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ เป็นต้น มี ศบอ. รวม 28 แห่ง เข้าประชุม ส่วนใหญ่ ผอ.ศบอ.มาด้วยตนเอง บางแห่งได้มอบหมายผู้รับผิดชอบโดยตรงเข้าประชุม ทั้งนี้ได้มีบุคลากรทั้ง ศนภอ. ศนจ. และ ศบอ. รวมทั้งอาจารย์พรทิพย์ กล้ารบ และอาจารย์นันฐิณี ศรีธัญญา กพ. ตลอดจนศึกษานิเทศก์กลุ่มภาคตะวันออกเข้าร่วมประชุมด้วย
ผลการประชุมครั้งนี้ ในความคิดของศึกษานิเทศก์เห็นว่า ศบอ.ทั้ง 28 แห่ง มีการดำเนินการประกันคุณภาพและจัดทำ SAR ในปีงบประมาณ 2550 ได้สอดคล้องและบรรลุแนวทางของการประกันคุณภาพ อาจมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันกับช่วงเวลาการทำงาน และผลงานที่ปรากฏซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีนั้น ก็ด้วยความเอาใจใส่ของ ผอ.ศนจ. และบุคลากรทุกคน ในลักษณะ Together for Quality นอกจากนี้จะเห็นว่ามีการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการนำเสนอสาระของเนื้อหาการประชุม พร้อมทั้งบุคลากรของ ศนภอ.สามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างมีศักยภาพ
นอกจากนี้ศึกษานิเทศก์ได้ให้ความเห็นที่อาจเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ
1. การเก็บรวบรวมข้อมูล
1.1 การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินแต่ละมาตรฐาน โดยอาศัยตัวบ่งชี้และเกณฑ์การพิจารณานั้น ข้อมูลของบางกิจกรรมและโครงการต้องเก็บรวบรวมมาเป็นระยะตามลักษณะของกิจกรรมและโครงการ เช่น จัดตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ควรเก็บรวบรวมไว้ในช่วงเวลานั้น กิจกรรมที่จัดในพื้นที่ต่าง ๆ ต้องจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่นั้นเลย รวมทั้งสอบถามจากภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมจัดหรือสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) การเก็บรวบรวมข้อมูลควรจัดเก็บให้ทันกับข้อมูล
ข้อมูลลักษณะต่าง ๆ ควรมีวิธีการ และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลให้เหมาะสม ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะได้จากผลการดำเนินกิจกรรม/โครงการนั้น ๆ รวมทั้งผลของการประเมินผลและติดตามผลในแต่ละโครงการ/กิจกรรม
1.2 การกำหนดเกณฑ์จัดระดับคุณภาพ ควรจะต้องกำหนดให้เท่า ๆ กัน ในทุกสถานศึกษาและยึดหลักสากลที่ใช้กันอยู่
1.3 การนำเสนอระดับคุณภาพ ควรจะเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก หรือมากไปหาน้อยให้เหมือนกัน ทั้งนี้อาจใช้การเรียงลำดับจากน้อยไปหามากคือ ปรับปรุง พอใช้ ...
2. การนำเสนอข้อมูลรายมาตรฐาน
2.1 ข้อมูลด้านความตระหนัก และข้อมูลความพยายามในการปฏิบัติ นำมาจากการจัดกิจกรรม/โครงการที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า กิจกรรม/โครงการนั้นจะก่อให้เกิดมาตรฐานใด
2.2 ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ในการเสนอผลแต่ละเกณฑ์การพิจารณาและตัวบ่งชี้ จะต้องเป็นข้อมูลที่มีความตรง (Validity) และมีความเชื่อมั่น (Reliability) ซึ่งได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
3. การสังเคราะห์ประเด็นสำคัญ
การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การสรุปประเด็นต่าง ๆ นั้น จะต้องมีน้ำหนัก มีข้อมูลยืนยัน และครบตามหัวข้อนั้นจริง ๆ กรณี จุดเด่น สามารถที่วิเคราะห์กิจกรรม โครงการที่ปฏิบัติ เชื่อมโยงมาได้ เช่น
กลุ่ม ศบอ.ฉะเชิงเทรา สามารถที่จะเชื่อมโยงการจัดทำ KM โดยใช้ระบบ Internet มาพัฒนาบุคลากรสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานได้
ศบอ.บ้านนา นครนายก สามารถที่จะเสนอการจัดค่ายทักษะชีวิตการดำเนินงานแผนพัฒนาชุมชน มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.สระแก้ว สามารถที่จะเชื่อมโยง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.สมุทรปราการ สามารถที่จะเชื่อมโยง การจัดการศึกษาในสถานประกอบการ กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรทุก ๆ ระดับ การพัฒนาแนวทางการสร้างระบบการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ชลบุรี สามารถที่จะเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการงาน กศน. มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ระยอง สามารถที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนของภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.จันทบุรี สามารถที่จะเชื่อมโยงการจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยเน้นกลุ่มเกษตรกรมาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ปราจีนบุรี สามารที่จะเชื่อมโยง การใช้คูปองเพื่อการศึกษามาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ตราด สามารถที่จะเชื่อมโยง การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ห้องสมุดประชาชนและศรช.เป็นฐานการดำเนินกิจกรรมได้ รวมทั้งการพัฒนาระบบเจ้าหน้าที่ห้องสมุดอาสาสมัคร มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
ซึ่งแนวทางการสังเคราะห์และสรุปประเด็นสำคัญนี้ จะใช้ในการสังเคราะห์ประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น จุดที่ควรพัฒนา ทิศทางการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา
4. การมีส่วนร่วม
กระบวนการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนของสถานศึกษาระดับอำเภอ รวมทั้งสถานศึกษาอื่น ๆ นั้น น่าจะพิจารณาเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพและการประเมินคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม สถานศึกษาใดดำเนินการได้ดี จะเป็นแนวทางของสถานศึกษาอื่น ๆ ต่อไป
การประชุมครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและเร่งรัดการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน และการจัดทำรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหาร ศนจ. ศบอ. บุคลากรทุก ๆ ส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ โดย ผอ.ประถม สมัครพงศ์ ศนภอ. และคณะ เป็นแกนกลางในการระดมประสบการณ์และการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ขอชื่นชมความตั้งใจและความสำเร็จของงานในครั้งนี้ด้วย

ปาน กิมปี และ จตุพร สุทธิวิวัฒน์
14 พฤษภาคม 2550

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Magic Project: ประกันคุณภาพ กศน.สมุทรปราการ By ดร.ปาน กิมปี

Magic Project: ประกันคุณภาพ กศน.สมุทรปราการ
ความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการประกันคุณภาพของกศน.สมุทรปราการไม่ใช่เป็นความบังเอิญ แต่เป็นความตระหนักและความพยายามมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานานนับปี หากเริ่มการย้อนรอยที่เป็นทางการอาจเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล ผอ.ศนจ.สมุทรปราการ ผอ.ศบอ. และชาวกศน.ทุกๆ คน หยิบจอบ หยิบเสียมเพื่อปลูกการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นระบบเป็นรากฐานของการประกันคุณภาพตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการประกันคุณภาพได้ดำเนินการมาด้วยวิถีปฏิบัติของกศน.อยู่แล้ว) และตามความคาดหวังในผลงานกศน.ของผู้รับบริการและเครือข่าย
ในช่วงสัปดาห์วันที่ 23-27 เมษายน 2550 ผอ.กุลธรและคณะได้พาศึกษานิเทศก์ เยี่ยมชมงาน กศน.ในพื้นที่ครบทั้ง 6 อำเภออีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นหนักถึงความก้าวหน้าการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ซึ่งได้พบว่า กศน.สมุทรปราการได้ดำเนินงานอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน สร้างความเข้าใจร่วมกันในความมุ่งมั่นการพัฒนาคุณภาพ พัฒนาระบบการประกันคุณภาพให้สอดคล้องกับนโยบายและกรอบแนวทางหลักของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ศึกษาและทำความเข้าใจมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน ปรับปรุง พัฒนาตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณาบางตัวเข้ามาเพิ่มเติม มีแนวทางการเสนอ SAR แล้ว เป็นผลงานที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะรายงานให้เป็นฉบับสมบูรณ์เท่านั้น จึงได้มีการสนทนาเพื่อเสนอกรอบแนวทางการเขียน SAR เพราะทุกอย่างมีข้อมูล 40-60% แล้ว ที่ประชุมของชาวกศน.แต่ละอำเภอจึงมีแรงปรารถนาที่อยากให้จบเล่ม อยากเห็นฉบับ SAR ฉบับแรกของแต่ละศบอ. จึงได้เกิดพลังนัดหมายกันว่าแต่ละอำเภอ จะทุบหม้อข้าวหม้อแกงให้จบภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2550 ให้จงได้ (ถึงแม้บางศนอ.จะถูกกติกาใบเหลืองจากผอ.จังหวัดบ้าง)
ด้วยพลังฮึดและความมีวิสัยทัศน์ของผอ.ศนจ.และ คณะจึงได้นัดหมายว่าเราจะมาร่วมกันเสนอ SAR ในวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2550 เพื่อเป็นการทบทวนคุณภาพและการรายงานคุณภาพด้วยลายลักษณ์อักษรที่เป็นฉบับ SAR และเชื่อมต่อถึงการพัฒนาคุณภาพของปีต่อไป และยิ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเมื่อศนจ./ศบอ.ใกล้เคียงที่เดินทางไม่ยากนัก ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย เช่น ผอ.ศิลป์ชัย ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ผอ.วราภรณ์ นครนายก ฉะเชิงเทรา ศูนย์ภาคตะวันออก ศกพ.(ส่วนกลาง) และยิ่งตื่นเต้นเข้าไปอีกเมื่อ ดร.วิศนี ศิลตระกูล ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน (ถึงแม้นัดหมายงานหลักไว้แล้ว 2 งาน ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงที่มาร่วมงานครั้งนี้) อาจารย์บุญสม นาวานุเคราะห์ วิทยากรกิตติมศักดิ์ (งานนี้ขึ้นรถเมล์มาก็ยอม) อาจารย์วีรนุช ทองแดง จากสมศ. (ที่เมื่อประสานงานไปแล้ว ได้ยินน้ำเสียงที่เต็มใจที่จะมาร่วมงาน เมื่อผอ.สมศ.เห็นชอบแล้ว) ศึกษานิเทศก์ กศน. ภาคตะวันออก รวมทั้งอาจารย์จตุพร (แจ๋ว) สุทธิวิวัฒน์ (งานนี้ยินดีเป็นผู้ดำเนินรายการเพิ่มด้วย) บางท่านไม่ได้มาแต่ก็อนุเคราะห์รถตู้รับ-ส่งจากอ.ประทุมทิพย์ ศรีเมือง(กจ.) ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย
เวทีการพัฒนาคุณภาพและช่วงเวลาสัมมนาได้มีการเสนอรายงานการพัฒนาคุณภาพครบทั้ง 6 อำเภอ และเพิ่มเติม ศบอ.เมืองชลบุรี (อ.กัลยาณี สมัครพงศ์ ผู้แทนของจังหวัด) เสนอผลด้วย และยังได้รับข้อคิดเห็นและหนทางดีๆ จาก อ.สุพรรณ เกษมสวัสดิ์ (ฉะเชิงเทรา ตัวแทนของ ผอ.กระวีกระวาด) รองกฤตชัย รักษาพล (ศกพ.) ผอ.สมศักดิ์ เรืองจิระอุไร (บางคล้า) และบุคคลสำคัญอีกหลายท่านที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้หมด
บทเรียนของเวทีสนทนาครั้งนี้ได้หลักกว้างๆ ของการประกันคุณภาพและเจาะลึกเกี่ยวกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ มาตรฐานการศึกษา ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การพิจารณา การเสนอผลแต่ละมาตรฐาน จุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา ทิศทางการพัฒนาคุณภาพต่อไป อ.วีรนุชให้สาระสำคัญและข้อคิดเห็นของการประกันคุณภาพ และได้ฟังนิทานดีๆ ถึง 2 เรื่อง (และต่อไปพวกเราคงไม่โยน touch stone ลงทะเลดำง่ายๆอีกแล้ว) และยังมีบทเรียนอีกมากมายที่แต่ละท่านได้เก็บเกี่ยวได้ไว้ จากวิทยากรดังกล่าวและสมาชิกที่ประชุม ที่สามารถเรียกว่าได้ว่าเป็นวาระ Together for Quality
และเป็นที่น่ายินดีที่จังหวัด อำเภอ ที่ได้จัดทำรายงาน SAR ไปก่อนหน้านี้แล้ว (อย่างเช่น ฉะเชิงเทรา บางอำเภอของชลบุรี จันทบุรี ฯลฯ) เป็นการยืนยันความสำเร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว ศบอ. ศนจ.ที่เหลือได้มีคำมั่นสัญญาและพันธะทางใจ จะจัดทำให้สำเร็จภายในเร็วๆวันนี้ เพื่อพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจากสมศ.
และก็แน่นอนการเป็นนักเรียนท๊อปเทนในห้องก็แสนยาก (แต่ภูมิใจในความสำเร็จ) แต่การรักษาระดับท๊อปเทนเป็นเรื่องที่ดูเหมือนยากกว่า ขอให้แต่ละท่านดูแล รักษาคุณภาพต่อไป หาหนทางวิธีการทำงานที่ดียิ่งขึ้น(Better ways) ต่อไป ทุกท่านควรได้รับดอกกุหลาบงามๆ กลับบ้านไปทุกคน โดยเฉพาะอาจารย์เบ็ญจพร ราชวิริยารักษ์ อาจารย์มาลัย ศักดิ์ตระกูลกล้า ผอ.ศบอ. และน้องๆครูกศน.ทุกคนที่ไม่มีแม้เวลาที่จะปิดทองหลังพระเสียด้วยซ้ำ และบุคคลสำคัญที่เป็น Man of the Match คือ ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล (ที่ดีใจและตื่นเต้นจนเกือบตกเวที แต่มาดยังดีเช่นเดิม) จนต้องเรียกว่างานเวทีนี้เป็น Magic Project

ดร.ปาน กิมปี 10 พ.ค. 50
บันทึกสาระย่อยๆนี้ ได้ประมวลจากเหตุการณ์เวทีประกันคุณภาพของศนจ.สมุทรปราการและพันธมิตรในระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมคัลเลอร์ลีฟวิ่ง สมุทรปราการ

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

การประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน (ดร.ปาน กิมปี)

Unit 1 แนวคิดพื้นฐานการประกันคุณภาพการศึกษา
ความหมายทั่วไป

การประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน หมายถึง การบริหารจัดการของสถานศึกษากศน. และองค์กรเครือข่าย เพื่อให้ผู้เรียนและผู้รับบริหารมีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน

ความหมายเชิงปฎิบัติการ

การประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน หมายถึง กระบวนการที่ผู้บริหาร บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง(stakeholders) ร่วมกันวางแผนกำหนดเป้าหมายตามมาตรฐานการศึกษา ออกแบบโครงการและกิจกรรมการจัดการศึกษานอกโรงเรียน กำกับ ดูแล ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการประเมินผลตนเอง เพื่อการดำรงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมาย

มาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน

ข้อกำหนดคุณลักษณะ คุณภาพอันพึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและเป็นหลักในการส่งเสริม สนับสนุน การกำกับ และการประเมินคุณภาพการศึกษา มีตัวบ่งชี้ (Indicator) ประกอบแต่ละมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนนี้จะอยู่ในกรอบของมาตรฐานการศึกษาของชาติ



Unit 2 ขั้นตอนการประกันคุณภาพการศึกษา
1. การควบคุมคุณภาพ(Quality Control)
เป็นขั้นตอนการวางแผนเพื่อกำหนดเป้าหมายของผลงาน การกำหนดมาตรฐานการศึกษา การพัฒนาวิธีดำเนินงานและกำหนดปัจจัย รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนของสถานศึกษา ประกอบด้วย
1.1 การวิเคราะห์สถานศึกษา เช่นใช้ SWOT analysis
1.2 การกำหนดมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน
1.3 การพัฒนากระบวนการดำเนินงานของสถานศึกษา
1.4 การกำหนดปัจจัยการดำเนินงาน
1.5 การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับการกำหนดมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน ตามข้อ 1.2 จำเป็นต้องยึดตามมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนที่กำหนดไว้แล้วส่วนตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณา สถานศึกษาสามารถปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้
2. การกำกับคุณภาพ(Quality Audit)
เป็นขั้นตอนที่สถานศึกษาดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษามีการส่งเสริม สนับสนุน กำกับ เพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมให้บรรลุตามมาตรฐานการศึกษา ประกอบด้วย
2.1 การให้คำชี้แจง อธิบายให้คำปรึกษา
2.2 การส่งเสริม สนับสนุน
2.3 การติดตาม ประเมินผลย่อย
2.4 การทบทวน การแก้ไขปัญหา อุปสรรค
3. การประเมินคุณภาพการศึกษา (Quality Assessment)
เป็นขั้นตอนของการตรวจสอบผลของการจัดการศึกษาสามารถบรรลุผลตามมาตรฐานในระดับใด อย่างไร โดยพิจารณาตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์การพิจารณา สามารถสรุปจุดเด่น จุดที่ต้องพัฒนา ทิศทางการพัฒนา และจัดทำเป็นรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา(Self Assessment Report: SAR) เป็นรายปี เพื่อเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเป็นเอกสารสำคัญในการดำเนินการในการประกันคุณภาพในปีต่อไปการประเมินคุณภาพการศึกษานี้จะมีหน่วยงานภายนอกที่เรียกว่า สมศ.(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) ทำหน้าที่ประเมินภายนอกในทุกๆ 5 ปี เพื่อตรวจสอบผลการจัดการศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา


Unit 3 การประเมินคุณภาพการศึกษา
1. การประเมินผลตนเอง
1.1 การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์สถานศึกษา การวางแผนการดำเนินงาน การกำหนดมาตรฐานการศึกษา การกำหนดโครงการและกิจกรรม การดำเนินงาน การกำกับ ดูแล จำเป็นที่สถานศึกษาต้องมีการประเมินผลตนเองตามแนวคิด Internal Evaluation เพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินงานสามารถบรรลุมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนที่กำหนดไว้เพียงใด และใช้วงจร PDCA ในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
1.2 การรายงานการประเมินตนเอง ควรเริ่มพร้อมกับการดำเนินงานประกันคุณภาพ งานที่ดำเนินงานนั้น ดำเนินการอย่างไร ได้ผลอย่างไร กรอบสาระสำคัญประกอบด้วย

สาระของการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง(SAR) ของแต่ละมาตรฐาน ควรเสนอผลเกี่ยวกับ
• ความตระหนัก (Awareness)
• ความพยายามในการปฎิบัติ (Attempt)
• ผลสำเร็จ (Achievement)
ในส่วนของความตระหนักและความพยายามในการปฎิบัติเป็นการรายงานเกี่ยวกับ แผน โครงการ ความสำคัญของสถานศึกษาที่มองเห็นความสำคัญ ความจำเป็นและได้ปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุมาตรฐานนั้น ส่วนผลสำเร็จคือผลการประเมินตามตัวบ่งชี้ และมีการสรุปรวมเป็นรายมาตรฐานการรายงานการประเมินตนเองนี้เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพประจำปี
2. การประเมินคุณภาพภายนอก
การตรวจสอบผลการดำเนินงานในลักษณะการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากสมศ. ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามแนวคิด External Evaluation โดยใช้ข้อมูลจาก SAR และการเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างที่เข้ามาประเมิน และจัดทำรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกอีกฉบับหนึ่ง ในแต่ละรอบ 5 ปี รายงานฉบับนี้จะมีการรายงานด้วยวาจาต่อสถานศึกษาและเมื่อจัดพิมพ์แล้วจะเป็นรายงานที่เปิดเผยต่อไป
3. ความรับผิดชอบต่อสังคม
สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการประกันคุณภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการของสถานศึกษาการดำเนินงานการประกันคุณภาพไม่ใช่เป็นการจัดทำ SAR และได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เท่านั้น แต่สถานศึกษาจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) ตามบทบาท ภารกิจในการจัดตั้งสถานศึกษาและนโยบายที่ได้รับการบริหารจัดการระบบคุณภาพ
1) การบริหารจัดการความเสี่ยง(Risk Management : RM)
2) การประกันคุณภาพ(Quality Assurance : QA)
3) การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง(Continuous Quality Improvement : CQI)