วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การปฏิบัติการสู่คุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ (ดร. ปาน)

การปฏิบัติการสู่คุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ 2551 ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการได้ดำเนินงานเสริมศักยภาพของผู้บริหารสถานศึกษาระดับอำเภอ อาจารย์และครู กศน. ประมาณ 120 คน ในการประชุมปฏิบัติการสร้างเครื่องมือการวัดผลสำหรับ หมวดวิชาที่เปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ของทุกสถานศึกษา ซึ่งมีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งหลักสูตร กศน. ปวช. เฉพาะหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ แต่ละระดับการศึกษามีเนื้อหาสาระ 8 หมวดวิชารวม 24 หมวดวิชาและหลักสูตร กศน. ปวช.ที่มีรายวิชาอีกเป็นจำนวนมาก ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 มีการเปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียน แต่ละสถานศึกษาเกือบทุกหมวดวิชา จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือวัดผลที่หลากหลายเท่ากับหมวดวิชาที่ เปิดสอน
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 วัน คือ ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2550 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา อ.สามพราน จ.นครปฐม ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดได้ประสานให้ผมและอาจารย์อีกหลายท่านเป็นวิทยากรและพี่เลี้ยง คือ อาจารย์จตุพร สุทธิวิวัฒน์ อาจารย์ทองพิน ขันอาสา อาจารย์วรรษวรรณ บันลือฤทธิ์ อาจารย์อรทัย ปานขาว เพื่อเสริมความรู้การพัฒนาเครื่องมือการวัดผลให้กับผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์และครู กศน.ให้สามารถสร้างเครื่องมือการวัดผลที่นำไปใช้งานได้ทันที
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เน้นให้มีการสร้างเครื่องมือวัดผลเพื่อใช้ในดำเนินการวัดผลและประเมินผลการศึกษาระหว่างภาคเรียนและปลายภาคเรียน โดยเน้นการสร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ (Multiple Choice) และการตอบแบบสั้น (Short Answer) ที่เน้นวัดความคิดวิเคราะห์และความสามารถในการเขียนตอบข้อสอบ เครื่องมือการวัดผลเหล่านี้ ครู กศน.จะได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้โดยตรงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 และผู้บริหาร อาจารย์และครู กศน.เกือบทุกคนได้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายและส่วนสำคัญที่สุด คือได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้ง แต่ละคนได้มุ่งมั่นและจริงจังในการเรียนรู้และปฏิบัติงานอย่างมาก มีการทำงานในช่วงกลางคืนทั้ง 2 คืนหลายท่านได้คะแนน A ไปอย่างน่าภูมิใจ
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปีงบประมาณที่แล้ว (ปีงบประมาณ 2550) ที่ได้มีการประชุมปฏิบัติการพัฒนาเครื่องมือวัดผล ระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน 2550 ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการ ในจำนวน 14 หมวดวิชาและพัฒนาข้อสอบถึง 23 ฉบับ ที่มีคณะทำงาน เช่น อาจารยเบ็ญจพร ราชวิริยารักษ์ อาจารย์มาลัย ศักดิ์ตระกูลกล้า อาจารย์ยุพา กิตติดุษฎีธรรม และคณะ ปฏิบัติงานกันอย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบทุกฉบับแล้ว
ภาพรวมของการดำเนินงานการพัฒนาการจัดการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการจัดการศึกษานอกโรงเรียนที่ประกอบด้วย

จากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนั้น ภารกิจหลักของงานมีกรอบของงาน ดังนี้
1. การศึกษาหลักสูตรและการจัดทำแผนการสอน
- การศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร
- การกำหนดแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้
- การกำหนดการเรียนรู้ต่อเนื่อง (กรต.)/โครงงาน/ทดสอบย่อย
- การกำหนดและพัฒนาสื่อ
- การจัดทำแผนการสอน
2. การจัดกระบวนการเรียนรู้
- การนำแผนการสอนไปใช้จัดการเรียนการสอน
- การจัดการเรียนการสอน
- การนิเทศและติดตามผล
- การวิจัยในชั้นเรียน
3. การวัดและประเมินผลการศึกษา
- การกำหนดกรอบการวัดผลและประเมินผล
- การพัฒนาเครื่องมือวัดผล
- การประเมินผลระหว่างภาค
- การประเมินผลปลายภาค
- การสรุปผลการจัดการศึกษา
งานในส่วนของการพัฒนาเครื่องมือการวัดผลจะเป็นชิ้นงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในองค์ประกอบของการวัดและประเมินผลการศึกษา
องค์ประกอบหลักของการจัดการศึกษาที่ประกอบด้วยหลักสูตร-การจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการในองค์รวมให้มีการขับเคลื่อนและพัฒนาไปอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง แนวทางการปฏิบัติการสู่คุณภาพของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรปราการและศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ทุกอำเภอ ตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ (Practice) ที่ดำเนินการไว้เป็นรูปธรรมแล้วคือ การพัฒนาของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางเสาธง โดย ผอ.สัมฤทธิ์ ศักดิ์ตระกูลกล้า ที่ได้มีการพัฒนาการจัดการศึกษาหมวดวิชาภาษาอังกฤษไว้แล้วที่เป็นตัวอย่างที่ดี ในภาพรวมของงานระดับจังหวัดมีจำเป็นต้องหาวิธีทำงานที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพพร้อมกับการปฏิบัติการจริง โดย ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล และคณะวิทยากรได้กำหนดให้มีคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาทั้ง 8 หมวดวิชา เข้าใจว่าจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป เพื่อทำหน้าที่พัฒนางานทั้ง 3 องค์ประกอบคือการวิเคราะห์หลักสูตรและการวางแผนการสอน การกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการกำหนดแนวทางการวัดผลและประเมินการศึกษา คณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาทั้ง 8 คณะ ซึ่งจะมีการวิธีการทำงานในลักษณะการวิจัยปฏิบัติการควบคู่ไปกับภารกิจต่าง ๆ ที่จะผสมผสาน การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (Collaboration Action Research) และ การวิจัยปฏิบัติการระดับสถานศึกษา (Schoolwide Action Research) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา
การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (Collaboration Action Research) มีการดำเนินงานโดยผู้บริหารและครูหลายคนร่วมกันทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของแต่ละหมวดวิชาตามองค์ประกอบของการวิเคราะห์หลักสูตรและการวางแผนการสอน การกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้และการกำหนดแนวทางการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวิจัยปฏิบัติการระดับสถานศึกษา (Schoolwide Action Research) มีการดำเนินงานโดยผู้บริหารและครู รวมทั้งองค์กรเครือข่ายร่วมกันทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญทั่วทั้งจังหวัดสมุทรปราการ (รายละเอียดและแนวทางการวิจัยทั้ง 2 รูปแบบนี้จะได้มีการขยายละเอียดในภายหลัง)
แนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษานอกโรงเรียนโดยกำหนดให้มีคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาที่จะเฝ้ามองและดำเนินการพัฒนาให้เข้มแข็งในแต่ละหมวดวิชา โดยใช้วิจัยปฏิบัติการควบคู่ไปด้วยกันแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่าจะเกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน มีความเป็นวิชาชีพและมีพลังในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การเริ่มต้นจากการคิดและกำหนดกรอบการทำงานของคณะอาจารย์ประจำหมวดวิชาและความร่วมมือของผู้บริหาร อาจารย์และครู กศน.ทุกคน ที่จะมีส่วนมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพงานการศึกษานอกโรงเรียนของจังหวัดให้ยั่งยืนและต่อเนื่องต่อไป
ดร. ปาน กิมปี 1 พฤศจิกายน 2550

บทบาทของ ศนจ.ในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.

บทบาทของ ศนจ.ในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน.

*****************

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ซึ่งสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน หรือที่เรียกกันว่า สถานศึกษา กศน.ก็มีความตื่นตัวในการดำเนินการประกันคุณภาพภายใน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547
การดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน. เริ่มมีความชัดเจน มาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ตกลงกันแล้วว่า สถานศึกษา กศน.ที่จะต้องดำเนินการประกันคุณภาพ คือ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ หรือ ศบอ. ในขณะที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด หรือ ศนจ.จะเป็นหน่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ ศบอ.สามารถดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับสถานภาพใหม่ของ ศนจ. ที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ศนจ.หลายแห่งมีบทบาทที่สำคัญในการกระตุ้น จัดเวที และสร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ ศบอ.สามารถดำเนินการประกันคุณภาพภายใน ดังจะเห็นได้จาก ศนจ. สมุทรปราการ ศนจ.ฉะเชิงเทรา ศนจ.จันทบุรี ศนจ.ชลบุรี ศนจ.ตราด และ ศนจ.ระยอง
แม้ว่า ศบอ.บางแห่งของจังหวัดระยองยังมิได้ดำเนินการตามกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้ครบวงจร แต่ในปี 2550 จังหวัดระยองก็มี ศบอ. 2 แห่ง คือ ศบอ.แกลง และ ศบอ.บ้านค่าย ที่ได้ดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างที่ท่านผู้อำนวยการศิลป์ชัย ศรีธัญญา ได้เริ่มต้นไว้ และสามารถต่อยอดการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี
สำหรับปีงบประมาณ 2551 ท่านผู้อำนวยการชำนาญ แจ่มจำรัส ผอ.ศนจ.ระยอง มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ ศบอ.ทุกแห่งเกิดความตื่นตัว และเร่งดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ด้วยการจัดเวทีให้ ศบอ.ทุกแห่งมีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจในกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยเชิญคณะศึกษานิเทศก์ มาเป็นวิทยากร (ประกอบด้วย ดร.ปาน กิมปี, อ.ชาญ นพรัตน์, อ.อัชราภรณ์ โคว้คชาภรณ์ และอ.จตุพร สุทธิวิวัฒน์) ในโครงการอบรมบุคลากรเพื่อพัฒนามาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2550 ณ ศนจ.ระยอง
จุดเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้มาจากความมีวิสัยทัศน์ของท่านผู้อำนวยการและความตระหนักในบทบาทของ ศนจ.ที่จะต้องดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุน ศบอ.ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในการประชุมมีความเป็นกัลยาณมิตร พร้อมที่จะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผอ.ศบอ.และเจ้าหน้าที่จากทุก ศบอ.ในจังหวัดระยอง สำหรับ ศบอ.ที่ท่านผู้อำนวยการติดราชการอื่น ก็ได้มอบให้เจ้าหน้าที่มาแทน นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมจากจังหวัดอื่นในภาคตะวันออก ได้แก่ ศบอ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา, ศบอ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว, ศบอ.บ้านนา จ.นครนายก, ศบอ.เมือง จ.ตราด, ศบอ.ขลุง และ ศนจ.จันทบุรี ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการสร้างเครือข่ายของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กศน. การประชุมดังกล่าว นอกจากการทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ การประกันคุณภาพ กระบวนการประกันคุณภาพ ทั้งการควบคุมคุณภาพ-Quality Control, การตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพ- Quality Audit, และการประเมินคุณภาพ – Quality Assessment ซึ่งมีทั้งการบรรยายให้ความรู้ การซักถาม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการทดสอบเล็ก ๆ!! ในขณะที่ ศนจ.ระยอง ทำหน้าที่เป็นหน่วยกระตุ้น สร้างกำลังใจให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน โดยเฉพาะคำสัญญาที่จะพาไปศึกษาดูงานต่างประเทศ (ใกล้ ๆ) หากกระบวนการพัฒนาคุณภาพประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใน 2 วัน ได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และด้วยความกระตือรือร้นของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนและความเอาใจใส่ของท่านผู้อำนวยการ ตลอดจนการประสานงานเป็นอย่างดีของ อ.วารีทิพย์ อินบัว และ อ.เนาวรัตน์ บัวเผื่อน แห่ง ศนจ.ระยอง ทำให้คณะวิทยากรรู้สึกชื่นใจและมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า การประกันคุณภาพภายในของ ศบอ.ทุกแห่งในภาคตะวันออกจะมีความเข้มแข็งและมีความก้าวหน้าอย่างแน่นอน
การประชุมครั้งนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการประกันคุณภาพของ ศนจ.ระยอง ในปี 2551 ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยบุคลากรทุกคนของแต่ละ ศบอ.จะต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อให้งานการศึกษานอกโรงเรียนทุกกิจกรรมและโครงการดำเนินการอย่างมีคุณภาพ อันจะเป็นหลักประกันได้ว่า ผู้รับบริการจะมีคุณภาพตามที่กำหนดอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ศนจ.ระยอง ได้กำหนดให้มีการทำงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งนัดหมายแรกกำหนดในวันที่ 16ธันวาคมนี้ โดย ศบอ.แต่ละแห่งจะนำเสนอแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามกรอบที่คณะวิทยากรและที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่เสนอไว้ หากมีความก้าวหน้าประการใดจะได้นำมาบอกเล่าในโอกาสต่อไป
การที่ ศนจ.ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน โดยทำหน้าที่เป็นแกนหลักทางด้านวิชาการให้แก่ ศบอ.ย่อมแสดงถึงความเข้มแข็งของงานการศึกษานอกโรงเรียนในจังหวัดนั้น ๆ ในขณะเดียวกัน การขยายความร่วมมือทางด้านวิชาการไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเครือข่ายการประกันคุณภาพ ซึ่งจะได้ถักทอให้เชื่อมโยงไปยังจังหวัดในภาคอื่น อันจะก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพของงานการศึกษานอกโรงเรียนจนเป็น “วัฒนธรรมคุณภาพ”อย่างแท้จริง

*************

จตุพร สุทธิวิวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ กศน.
29 พฤศจิกายน 2550