วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2550

ประเด็นการอภิปรายในการประชุมสัมมนาภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย โดย ดร.ปาน กิมปี

ประเด็นการอภิปรายในการประชุมสัมมนาภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย

จัดโดยภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่ คณะศึกษาศาสตร์ มศว.ประสานมิตร
วันที่ 21 กันยายน 2550 เวลา 13.00-16.30 น.
ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพมหานคร



หัวข้อการอภิปราย : นานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ
>ผู้ทรงคุณวุฒิอภิปราย
1. ผศ.ดร.ชิดชงค์ ส.นันทนาเนตร หัวหน้าภาควิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. ดร.ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2542
3. คุณประเทือง แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
ผู้ดำเนินการอภิปราย
ดร.ปาน กิมปี สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน

ช่วงระยะการอภิปรายเป็นช่วงเวลาบ่ายที่ต่อเนื่องมากจากการบรรยายพิเศษของท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.จรวยพร ธรณินทร์) ในหัวข้อ “ภาวะวิกฤตของการศึกษานอกระบบในสังคมไทย” และการบรรยายของ อดีตรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ดร.กล้า สมตระกูล) ในหัวข้อ “พ.ร.บ.การศึกษากับแนวโน้มการศึกษานอกระบบในสังคมไทย”
ฉะนั้น ในช่วงการอภิรายรอบบ่าย ในหัวข้อ “นานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ” จึงได้ร่างกรอบการอภิปรายไว้เพื่อผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายจะได้อาศัยเป็นกรอบอภิปรายเพื่อเสนอองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นต่อผู้รับฟัง คือ
จากสภาพการดำเนินงาน การจัดการศึกษานอกโรงเรียนของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักบริหารงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) กรมการศาสนา (เช่น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พิพิธภัณฑ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ห้องสมุด ศูนย์การเรียน รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรชุมชน และอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ควรมีบทบาทและแนวทางในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนในอนาคตช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเป็นโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่าน อาจจะให้ข้อคิดเห็นในมิติต่าง ๆ ดังนี้
1. การเข้าถึงหรือการให้โอกาสที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษานอกโรงเรียนที่ตอบสนองความต้องการได้ และไม่มองว่าการศึกษานอกโรงเรียนเป็นทางเลือกสุดท้าย
2. การสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย เข้ามาร่วมจัดการศึกษานอกโรงเรียน และสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จะมีบทบาทเป็นแกนกลางที่จะประสานหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน ประชาชน ได้อย่างไร
3. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นวาระแห่งชาติควรจะเป็นอย่างไร

ประเด็นเหล่านี้เพื่อเป็นกรอบในการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อนานาทัศนะเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ


ดร. ปาน กิมปี
18 กันยายน 2550

การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ ศบอ. โดย ปัญญา วารปรีดี

การพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน เป็นการศึกษาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยการศึกษาข้อมูล เชิงคุณลักษณะเฉพาะกรณีของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านนา และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคลากร รวมจำนวน 134 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน ด้วยวิธีการสังเกต และการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลจากการวิจัย พบว่า ระบบการบริหารจัดการในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษามีองค์ประกอบและคุณลักษณะสำคัญคล้ายคลึงกัน คือ การพัฒนาภาวะผู้นำ พัฒนาความคิดเชิงระบบ และการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมในลักษณะที่เป็นพลวัตจากการปฏิบัติงานจริง โดยใช้วิธีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ ใช้หลักธรรมกัลยาณมิตรในการขจัดปัญหาอุปสรรค ส่วนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงาน การศึกษานอกโรงเรียน มีลักษณะเป็นองค์รวม โดยเริ่มจากภาวะผู้นำของผู้บริหารและของทีม การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กระบวนการ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมจากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ ทุกขั้นตอนการพัฒนาจะมีผลย้อนกลับสู่กระบวนการและปัจจัยนำเข้าเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร