วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ผลการประชุมเพื่อนำเสนอการรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR) ของสถานศึกษาในกลุ่มภาคตะวันออก by Dr.pan@com

ผลการประชุมเพื่อนำเสนอการรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR)
ของสถานศึกษาในกลุ่มภาคตะวันออก
ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก จ.ระยอง

***************************
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก ได้เชิญ ศนจ. ทุกแห่งและ ศบอ. ที่เป็นตัวแทนของ ศบอ. ในจังหวัด เข้าประชุม ณ ศนภอ. เพื่อปรึกษาหารือกันและระดมพลังในการประกันคุณภาพการศึกษา และเสนอ SAR ของแต่ละ ศบอ. ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเร่งรัด การปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ 2550 ด้วย
การประชุมครั้งนี้ แต่ละสถานศึกษาได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มี ผอ.ศนจ. หลายแห่งที่ไม่ติดราชการอื่น เข้าประชุมด้วยตนเอง เช่น ผอ.ฉันทะ พ่วงชิงงาม ผอ.สุรพงษ์ จำจด ผอ.ศิลป์ชัย ศรีธัญญา ผอ.ทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ เป็นต้น มี ศบอ. รวม 28 แห่ง เข้าประชุม ส่วนใหญ่ ผอ.ศบอ.มาด้วยตนเอง บางแห่งได้มอบหมายผู้รับผิดชอบโดยตรงเข้าประชุม ทั้งนี้ได้มีบุคลากรทั้ง ศนภอ. ศนจ. และ ศบอ. รวมทั้งอาจารย์พรทิพย์ กล้ารบ และอาจารย์นันฐิณี ศรีธัญญา กพ. ตลอดจนศึกษานิเทศก์กลุ่มภาคตะวันออกเข้าร่วมประชุมด้วย
ผลการประชุมครั้งนี้ ในความคิดของศึกษานิเทศก์เห็นว่า ศบอ.ทั้ง 28 แห่ง มีการดำเนินการประกันคุณภาพและจัดทำ SAR ในปีงบประมาณ 2550 ได้สอดคล้องและบรรลุแนวทางของการประกันคุณภาพ อาจมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันกับช่วงเวลาการทำงาน และผลงานที่ปรากฏซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีนั้น ก็ด้วยความเอาใจใส่ของ ผอ.ศนจ. และบุคลากรทุกคน ในลักษณะ Together for Quality นอกจากนี้จะเห็นว่ามีการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการนำเสนอสาระของเนื้อหาการประชุม พร้อมทั้งบุคลากรของ ศนภอ.สามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างมีศักยภาพ
นอกจากนี้ศึกษานิเทศก์ได้ให้ความเห็นที่อาจเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ
1. การเก็บรวบรวมข้อมูล
1.1 การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินแต่ละมาตรฐาน โดยอาศัยตัวบ่งชี้และเกณฑ์การพิจารณานั้น ข้อมูลของบางกิจกรรมและโครงการต้องเก็บรวบรวมมาเป็นระยะตามลักษณะของกิจกรรมและโครงการ เช่น จัดตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ควรเก็บรวบรวมไว้ในช่วงเวลานั้น กิจกรรมที่จัดในพื้นที่ต่าง ๆ ต้องจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่นั้นเลย รวมทั้งสอบถามจากภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมจัดหรือสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) การเก็บรวบรวมข้อมูลควรจัดเก็บให้ทันกับข้อมูล
ข้อมูลลักษณะต่าง ๆ ควรมีวิธีการ และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลให้เหมาะสม ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะได้จากผลการดำเนินกิจกรรม/โครงการนั้น ๆ รวมทั้งผลของการประเมินผลและติดตามผลในแต่ละโครงการ/กิจกรรม
1.2 การกำหนดเกณฑ์จัดระดับคุณภาพ ควรจะต้องกำหนดให้เท่า ๆ กัน ในทุกสถานศึกษาและยึดหลักสากลที่ใช้กันอยู่
1.3 การนำเสนอระดับคุณภาพ ควรจะเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก หรือมากไปหาน้อยให้เหมือนกัน ทั้งนี้อาจใช้การเรียงลำดับจากน้อยไปหามากคือ ปรับปรุง พอใช้ ...
2. การนำเสนอข้อมูลรายมาตรฐาน
2.1 ข้อมูลด้านความตระหนัก และข้อมูลความพยายามในการปฏิบัติ นำมาจากการจัดกิจกรรม/โครงการที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า กิจกรรม/โครงการนั้นจะก่อให้เกิดมาตรฐานใด
2.2 ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ในการเสนอผลแต่ละเกณฑ์การพิจารณาและตัวบ่งชี้ จะต้องเป็นข้อมูลที่มีความตรง (Validity) และมีความเชื่อมั่น (Reliability) ซึ่งได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
3. การสังเคราะห์ประเด็นสำคัญ
การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การสรุปประเด็นต่าง ๆ นั้น จะต้องมีน้ำหนัก มีข้อมูลยืนยัน และครบตามหัวข้อนั้นจริง ๆ กรณี จุดเด่น สามารถที่วิเคราะห์กิจกรรม โครงการที่ปฏิบัติ เชื่อมโยงมาได้ เช่น
กลุ่ม ศบอ.ฉะเชิงเทรา สามารถที่จะเชื่อมโยงการจัดทำ KM โดยใช้ระบบ Internet มาพัฒนาบุคลากรสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานได้
ศบอ.บ้านนา นครนายก สามารถที่จะเสนอการจัดค่ายทักษะชีวิตการดำเนินงานแผนพัฒนาชุมชน มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.สระแก้ว สามารถที่จะเชื่อมโยง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.สมุทรปราการ สามารถที่จะเชื่อมโยง การจัดการศึกษาในสถานประกอบการ กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรทุก ๆ ระดับ การพัฒนาแนวทางการสร้างระบบการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ชลบุรี สามารถที่จะเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการงาน กศน. มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ระยอง สามารถที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนของภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.จันทบุรี สามารถที่จะเชื่อมโยงการจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยเน้นกลุ่มเกษตรกรมาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ปราจีนบุรี สามารที่จะเชื่อมโยง การใช้คูปองเพื่อการศึกษามาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
กลุ่ม ศบอ.ตราด สามารถที่จะเชื่อมโยง การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ห้องสมุดประชาชนและศรช.เป็นฐานการดำเนินกิจกรรมได้ รวมทั้งการพัฒนาระบบเจ้าหน้าที่ห้องสมุดอาสาสมัคร มาสู่การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานได้
ซึ่งแนวทางการสังเคราะห์และสรุปประเด็นสำคัญนี้ จะใช้ในการสังเคราะห์ประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น จุดที่ควรพัฒนา ทิศทางการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา
4. การมีส่วนร่วม
กระบวนการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนของสถานศึกษาระดับอำเภอ รวมทั้งสถานศึกษาอื่น ๆ นั้น น่าจะพิจารณาเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพและการประเมินคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม สถานศึกษาใดดำเนินการได้ดี จะเป็นแนวทางของสถานศึกษาอื่น ๆ ต่อไป
การประชุมครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและเร่งรัดการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน และการจัดทำรายงานการประเมินผลตนเอง (SAR) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหาร ศนจ. ศบอ. บุคลากรทุก ๆ ส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ โดย ผอ.ประถม สมัครพงศ์ ศนภอ. และคณะ เป็นแกนกลางในการระดมประสบการณ์และการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ขอชื่นชมความตั้งใจและความสำเร็จของงานในครั้งนี้ด้วย

ปาน กิมปี และ จตุพร สุทธิวิวัฒน์
14 พฤษภาคม 2550

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Magic Project: ประกันคุณภาพ กศน.สมุทรปราการ By ดร.ปาน กิมปี

Magic Project: ประกันคุณภาพ กศน.สมุทรปราการ
ความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการประกันคุณภาพของกศน.สมุทรปราการไม่ใช่เป็นความบังเอิญ แต่เป็นความตระหนักและความพยายามมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานานนับปี หากเริ่มการย้อนรอยที่เป็นทางการอาจเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล ผอ.ศนจ.สมุทรปราการ ผอ.ศบอ. และชาวกศน.ทุกๆ คน หยิบจอบ หยิบเสียมเพื่อปลูกการประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นระบบเป็นรากฐานของการประกันคุณภาพตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการประกันคุณภาพได้ดำเนินการมาด้วยวิถีปฏิบัติของกศน.อยู่แล้ว) และตามความคาดหวังในผลงานกศน.ของผู้รับบริการและเครือข่าย
ในช่วงสัปดาห์วันที่ 23-27 เมษายน 2550 ผอ.กุลธรและคณะได้พาศึกษานิเทศก์ เยี่ยมชมงาน กศน.ในพื้นที่ครบทั้ง 6 อำเภออีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นหนักถึงความก้าวหน้าการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ซึ่งได้พบว่า กศน.สมุทรปราการได้ดำเนินงานอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน สร้างความเข้าใจร่วมกันในความมุ่งมั่นการพัฒนาคุณภาพ พัฒนาระบบการประกันคุณภาพให้สอดคล้องกับนโยบายและกรอบแนวทางหลักของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ศึกษาและทำความเข้าใจมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน ปรับปรุง พัฒนาตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณาบางตัวเข้ามาเพิ่มเติม มีแนวทางการเสนอ SAR แล้ว เป็นผลงานที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะรายงานให้เป็นฉบับสมบูรณ์เท่านั้น จึงได้มีการสนทนาเพื่อเสนอกรอบแนวทางการเขียน SAR เพราะทุกอย่างมีข้อมูล 40-60% แล้ว ที่ประชุมของชาวกศน.แต่ละอำเภอจึงมีแรงปรารถนาที่อยากให้จบเล่ม อยากเห็นฉบับ SAR ฉบับแรกของแต่ละศบอ. จึงได้เกิดพลังนัดหมายกันว่าแต่ละอำเภอ จะทุบหม้อข้าวหม้อแกงให้จบภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2550 ให้จงได้ (ถึงแม้บางศนอ.จะถูกกติกาใบเหลืองจากผอ.จังหวัดบ้าง)
ด้วยพลังฮึดและความมีวิสัยทัศน์ของผอ.ศนจ.และ คณะจึงได้นัดหมายว่าเราจะมาร่วมกันเสนอ SAR ในวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2550 เพื่อเป็นการทบทวนคุณภาพและการรายงานคุณภาพด้วยลายลักษณ์อักษรที่เป็นฉบับ SAR และเชื่อมต่อถึงการพัฒนาคุณภาพของปีต่อไป และยิ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเมื่อศนจ./ศบอ.ใกล้เคียงที่เดินทางไม่ยากนัก ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย เช่น ผอ.ศิลป์ชัย ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ผอ.วราภรณ์ นครนายก ฉะเชิงเทรา ศูนย์ภาคตะวันออก ศกพ.(ส่วนกลาง) และยิ่งตื่นเต้นเข้าไปอีกเมื่อ ดร.วิศนี ศิลตระกูล ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน (ถึงแม้นัดหมายงานหลักไว้แล้ว 2 งาน ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงที่มาร่วมงานครั้งนี้) อาจารย์บุญสม นาวานุเคราะห์ วิทยากรกิตติมศักดิ์ (งานนี้ขึ้นรถเมล์มาก็ยอม) อาจารย์วีรนุช ทองแดง จากสมศ. (ที่เมื่อประสานงานไปแล้ว ได้ยินน้ำเสียงที่เต็มใจที่จะมาร่วมงาน เมื่อผอ.สมศ.เห็นชอบแล้ว) ศึกษานิเทศก์ กศน. ภาคตะวันออก รวมทั้งอาจารย์จตุพร (แจ๋ว) สุทธิวิวัฒน์ (งานนี้ยินดีเป็นผู้ดำเนินรายการเพิ่มด้วย) บางท่านไม่ได้มาแต่ก็อนุเคราะห์รถตู้รับ-ส่งจากอ.ประทุมทิพย์ ศรีเมือง(กจ.) ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย
เวทีการพัฒนาคุณภาพและช่วงเวลาสัมมนาได้มีการเสนอรายงานการพัฒนาคุณภาพครบทั้ง 6 อำเภอ และเพิ่มเติม ศบอ.เมืองชลบุรี (อ.กัลยาณี สมัครพงศ์ ผู้แทนของจังหวัด) เสนอผลด้วย และยังได้รับข้อคิดเห็นและหนทางดีๆ จาก อ.สุพรรณ เกษมสวัสดิ์ (ฉะเชิงเทรา ตัวแทนของ ผอ.กระวีกระวาด) รองกฤตชัย รักษาพล (ศกพ.) ผอ.สมศักดิ์ เรืองจิระอุไร (บางคล้า) และบุคคลสำคัญอีกหลายท่านที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้หมด
บทเรียนของเวทีสนทนาครั้งนี้ได้หลักกว้างๆ ของการประกันคุณภาพและเจาะลึกเกี่ยวกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ มาตรฐานการศึกษา ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การพิจารณา การเสนอผลแต่ละมาตรฐาน จุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา ทิศทางการพัฒนาคุณภาพต่อไป อ.วีรนุชให้สาระสำคัญและข้อคิดเห็นของการประกันคุณภาพ และได้ฟังนิทานดีๆ ถึง 2 เรื่อง (และต่อไปพวกเราคงไม่โยน touch stone ลงทะเลดำง่ายๆอีกแล้ว) และยังมีบทเรียนอีกมากมายที่แต่ละท่านได้เก็บเกี่ยวได้ไว้ จากวิทยากรดังกล่าวและสมาชิกที่ประชุม ที่สามารถเรียกว่าได้ว่าเป็นวาระ Together for Quality
และเป็นที่น่ายินดีที่จังหวัด อำเภอ ที่ได้จัดทำรายงาน SAR ไปก่อนหน้านี้แล้ว (อย่างเช่น ฉะเชิงเทรา บางอำเภอของชลบุรี จันทบุรี ฯลฯ) เป็นการยืนยันความสำเร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว ศบอ. ศนจ.ที่เหลือได้มีคำมั่นสัญญาและพันธะทางใจ จะจัดทำให้สำเร็จภายในเร็วๆวันนี้ เพื่อพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจากสมศ.
และก็แน่นอนการเป็นนักเรียนท๊อปเทนในห้องก็แสนยาก (แต่ภูมิใจในความสำเร็จ) แต่การรักษาระดับท๊อปเทนเป็นเรื่องที่ดูเหมือนยากกว่า ขอให้แต่ละท่านดูแล รักษาคุณภาพต่อไป หาหนทางวิธีการทำงานที่ดียิ่งขึ้น(Better ways) ต่อไป ทุกท่านควรได้รับดอกกุหลาบงามๆ กลับบ้านไปทุกคน โดยเฉพาะอาจารย์เบ็ญจพร ราชวิริยารักษ์ อาจารย์มาลัย ศักดิ์ตระกูลกล้า ผอ.ศบอ. และน้องๆครูกศน.ทุกคนที่ไม่มีแม้เวลาที่จะปิดทองหลังพระเสียด้วยซ้ำ และบุคคลสำคัญที่เป็น Man of the Match คือ ผอ.กุลธร เลิศสุริยะกุล (ที่ดีใจและตื่นเต้นจนเกือบตกเวที แต่มาดยังดีเช่นเดิม) จนต้องเรียกว่างานเวทีนี้เป็น Magic Project

ดร.ปาน กิมปี 10 พ.ค. 50
บันทึกสาระย่อยๆนี้ ได้ประมวลจากเหตุการณ์เวทีประกันคุณภาพของศนจ.สมุทรปราการและพันธมิตรในระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมคัลเลอร์ลีฟวิ่ง สมุทรปราการ

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

การประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน (ดร.ปาน กิมปี)

Unit 1 แนวคิดพื้นฐานการประกันคุณภาพการศึกษา
ความหมายทั่วไป

การประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน หมายถึง การบริหารจัดการของสถานศึกษากศน. และองค์กรเครือข่าย เพื่อให้ผู้เรียนและผู้รับบริหารมีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน

ความหมายเชิงปฎิบัติการ

การประกันคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน หมายถึง กระบวนการที่ผู้บริหาร บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง(stakeholders) ร่วมกันวางแผนกำหนดเป้าหมายตามมาตรฐานการศึกษา ออกแบบโครงการและกิจกรรมการจัดการศึกษานอกโรงเรียน กำกับ ดูแล ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการประเมินผลตนเอง เพื่อการดำรงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษานอกโรงเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมาย

มาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน

ข้อกำหนดคุณลักษณะ คุณภาพอันพึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและเป็นหลักในการส่งเสริม สนับสนุน การกำกับ และการประเมินคุณภาพการศึกษา มีตัวบ่งชี้ (Indicator) ประกอบแต่ละมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนนี้จะอยู่ในกรอบของมาตรฐานการศึกษาของชาติ



Unit 2 ขั้นตอนการประกันคุณภาพการศึกษา
1. การควบคุมคุณภาพ(Quality Control)
เป็นขั้นตอนการวางแผนเพื่อกำหนดเป้าหมายของผลงาน การกำหนดมาตรฐานการศึกษา การพัฒนาวิธีดำเนินงานและกำหนดปัจจัย รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนของสถานศึกษา ประกอบด้วย
1.1 การวิเคราะห์สถานศึกษา เช่นใช้ SWOT analysis
1.2 การกำหนดมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน
1.3 การพัฒนากระบวนการดำเนินงานของสถานศึกษา
1.4 การกำหนดปัจจัยการดำเนินงาน
1.5 การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับการกำหนดมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน ตามข้อ 1.2 จำเป็นต้องยึดตามมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนที่กำหนดไว้แล้วส่วนตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณา สถานศึกษาสามารถปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้
2. การกำกับคุณภาพ(Quality Audit)
เป็นขั้นตอนที่สถานศึกษาดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษามีการส่งเสริม สนับสนุน กำกับ เพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมให้บรรลุตามมาตรฐานการศึกษา ประกอบด้วย
2.1 การให้คำชี้แจง อธิบายให้คำปรึกษา
2.2 การส่งเสริม สนับสนุน
2.3 การติดตาม ประเมินผลย่อย
2.4 การทบทวน การแก้ไขปัญหา อุปสรรค
3. การประเมินคุณภาพการศึกษา (Quality Assessment)
เป็นขั้นตอนของการตรวจสอบผลของการจัดการศึกษาสามารถบรรลุผลตามมาตรฐานในระดับใด อย่างไร โดยพิจารณาตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์การพิจารณา สามารถสรุปจุดเด่น จุดที่ต้องพัฒนา ทิศทางการพัฒนา และจัดทำเป็นรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา(Self Assessment Report: SAR) เป็นรายปี เพื่อเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเป็นเอกสารสำคัญในการดำเนินการในการประกันคุณภาพในปีต่อไปการประเมินคุณภาพการศึกษานี้จะมีหน่วยงานภายนอกที่เรียกว่า สมศ.(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) ทำหน้าที่ประเมินภายนอกในทุกๆ 5 ปี เพื่อตรวจสอบผลการจัดการศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา


Unit 3 การประเมินคุณภาพการศึกษา
1. การประเมินผลตนเอง
1.1 การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์สถานศึกษา การวางแผนการดำเนินงาน การกำหนดมาตรฐานการศึกษา การกำหนดโครงการและกิจกรรม การดำเนินงาน การกำกับ ดูแล จำเป็นที่สถานศึกษาต้องมีการประเมินผลตนเองตามแนวคิด Internal Evaluation เพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินงานสามารถบรรลุมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียนที่กำหนดไว้เพียงใด และใช้วงจร PDCA ในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
1.2 การรายงานการประเมินตนเอง ควรเริ่มพร้อมกับการดำเนินงานประกันคุณภาพ งานที่ดำเนินงานนั้น ดำเนินการอย่างไร ได้ผลอย่างไร กรอบสาระสำคัญประกอบด้วย

สาระของการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง(SAR) ของแต่ละมาตรฐาน ควรเสนอผลเกี่ยวกับ
• ความตระหนัก (Awareness)
• ความพยายามในการปฎิบัติ (Attempt)
• ผลสำเร็จ (Achievement)
ในส่วนของความตระหนักและความพยายามในการปฎิบัติเป็นการรายงานเกี่ยวกับ แผน โครงการ ความสำคัญของสถานศึกษาที่มองเห็นความสำคัญ ความจำเป็นและได้ปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุมาตรฐานนั้น ส่วนผลสำเร็จคือผลการประเมินตามตัวบ่งชี้ และมีการสรุปรวมเป็นรายมาตรฐานการรายงานการประเมินตนเองนี้เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพประจำปี
2. การประเมินคุณภาพภายนอก
การตรวจสอบผลการดำเนินงานในลักษณะการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากสมศ. ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามแนวคิด External Evaluation โดยใช้ข้อมูลจาก SAR และการเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างที่เข้ามาประเมิน และจัดทำรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกอีกฉบับหนึ่ง ในแต่ละรอบ 5 ปี รายงานฉบับนี้จะมีการรายงานด้วยวาจาต่อสถานศึกษาและเมื่อจัดพิมพ์แล้วจะเป็นรายงานที่เปิดเผยต่อไป
3. ความรับผิดชอบต่อสังคม
สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการประกันคุณภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการของสถานศึกษาการดำเนินงานการประกันคุณภาพไม่ใช่เป็นการจัดทำ SAR และได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เท่านั้น แต่สถานศึกษาจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) ตามบทบาท ภารกิจในการจัดตั้งสถานศึกษาและนโยบายที่ได้รับการบริหารจัดการระบบคุณภาพ
1) การบริหารจัดการความเสี่ยง(Risk Management : RM)
2) การประกันคุณภาพ(Quality Assurance : QA)
3) การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง(Continuous Quality Improvement : CQI)